ให้กู้ต่อ! รัฐบาลใจดีเพิ่มเงินกู้ให้กฟผ.อีก 10,000 ล้านบาท ช่วยแบกค่าไฟให้ประชาชน

396
0
Share:
ให้กู้ต่อ! รัฐบาล ใจดีเพิ่ม เงินกู้ ให้ กฟผ. อีก 10,000 ล้านบาท ช่วยแบกค่าไฟให้ประชาชน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line จากวงเงินเดิม 10,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 11 กันยายน 2567

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2565 เป็นวันที่วงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line ที่ได้รับอนุมัติจากครม.เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 จะครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ภายใต้เงื่อนไขเดิมประกอบด้วย กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำTrust Receipt (R/T) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม(Call Loan)

สำหรับการกู้เงินดังกล่าว จะพิจารณาทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินที่เสนอรูปแบบที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ตามอัตราดอกเบี้ยตลาด โดยกระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้เงินดังกล่าว

ขณะที่ กฟผ. อยู่ระหว่างดำเนินการนำเสนอการกู้เงิน เพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) ตามนโยบายของรัฐประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท

หากได้รับความเห็นชอบจากครม.แล้ว กฟผ.คาดว่าจะได้รับเงินกู้ดังกล่าวในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งไม่ทันต่อการรองรับการขาดสภาพคล่องในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line เพิ่มขึ้น ตามคาดการณ์ในเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องวงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาทดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ร่วมรับภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท แม้ กฟผ. จะพยายามแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแล้วจำนวน 25,000 ล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เกินกำลัง เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กฟผ. จึงมีความจำเป็นต้องแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง วอนรัฐช่วยดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อความความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว

ทั้งนี้ ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าไม่ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะมีผลทำให้ กฟผ.ขาดสภาพคล่อง เราได้แจ้งกระทรวงพลังงานไปแล้ว และ ครม.ก็อนุมัติให้ กฟผ.ไปกู้เงินมาเพื่อบริหารจัดการสภาพคล่อง โดยรัฐค้ำประกันให้ในวงเงิน 25,000 ล้านบาท และให้ กฟผ.ทยอยกู้ตามความจำเป็น ซึ่งขณะนี้หลักการกู้เงินได้เข้าบอร์ด กฟผ.ไปแล้ว ปัจจุบัน กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าไว้ประมาณ 83,010 ล้านบาท และ กฟผ.ได้เสนอสูตรค่าไฟต่อ กกพ. ไป 4 เคส ก่อนหน้านี้