ไทยมีเห็นเงินเฟ้อแตะ 4% ในไตรมาสแรกนี้ ดันค่าครองชีพแพงพุ่งขึ้นอีก

330
0
Share:
ค่าครองชีพ

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า หลากหลายปัจจัยกดดันด้านต้นทุน (cost-push) ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบโลก ราคาอาหารสด ภาวะขนส่งโลจิสติกส์จำกัด ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากปี 2564 ทำให้ศูนย์วิจัย ttb analytics ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7% ไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ในปี 2565 นี้ โดยเร่งตัวสูงสุดในไตรมาสแรกอยู่ที่ 4% และจะทยอยลดลงตลอดไปจนถึงปลายปี หลังปัจจัยต่างๆ ทยอยคลี่คลาย

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.0% โดยปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อด้านสูงยังมีอยู่จากสาเหตุดังนี้ 1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความขัดแย้งรัศเซีย-ยูเครน ที่อาจทำให้ราคาพลังงานเร่งขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน 2) ปัจจัยด้านภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลต่อการลดลงของปริมาณผลผลิตการเกษตร 3) ความยืดเยื้อของปัญหาคอขวดในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะหากเกิดการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่อาจรุนแรงจนทำให้กิจกรรมการผลิตต้องสะดุดลงและกระทบกับภาวะการจ้างงาน

สำหรับแรงกดดันจากหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อในปี 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูง สาเหตุจากสภาพภูมิอากาศที่หนาวมากกว่าปกติ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ส่งผลให้ทั่วโลกมีปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันประเทศผู้ผลิตน้ำมันไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อราคาน้ำมันโดยเฉพาะในช่วงต้นปีนี้

สำหรับต้นทุนหมวดอาหารสดมีการปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่แพงขึ้น ประกอบกับการเกิดโรคระบาดของสุกรในประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้ต้องใช้มาตรการจำกัดจำนวนการเลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสุกรลดลงและราคาเนื้อสุกรในประเทศเพิ่มขึ้นสูง และมีผลกระทบทำให้ราคาเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ เช่น เนื้อไก่ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไทยอาจยังต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนในการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงสุกรและทยอยเพิ่มผลผลิตเข้าสู่ท้องตลาด เป็นสาเหตุทำให้แรงกดดันต่อราคาในหมวดอาหารสดจะคงยังลากยาวไปถึงสิ้นปี 2565

ปัจจัยต่อมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังเร่งตัวทั้งในและต่างประเทศ แต่เนื่องจากเป็นเชื้อที่แพร่กระจายเร็วและไม่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง จึงประเมินว่าผลกระทบนี้จะอยู่เพียงในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 เท่านั้น ก่อนที่เศรษฐกิจภายในประเทศและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทยอยกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึงสิ้นปี

นอกจากนี้ ปัญหาการตึงตัวในภาคการผลิต (Supply bottleneck) ในบางหมวดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงกับผู้ผลิตในประเทศที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะ ยุโรป สหรัฐฯ หรือปัญหาในการปรับเพิ่มอัตราการจ้างงาน อาทิ สินค้ากลุ่มที่ต้องพี่งพาเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเห็นผลกระทบได้สูงในปัจจุบัน

ประกอบกับต้นทุนค่าขนส่งที่แพงจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างตามท่าเรือ เนื่องจากระดับกิจกรรมท่าเรือและการจ้างงานในหลายประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เพียงพอรองรับการเร่งตัวของกิจกรรมส่งออก จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้านำเข้าและต้นทุนของผู้ผลิตปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

โดยในเบื้องต้น ประเมินว่าปัญหาตึงตัวด้านกระบวนการผลิตในหลายสินค้าจะใช้เวลานานกว่าจะกลับสู่ระดับราคาปกติได้ราวปลายปี 2567 ดังนั้น ปัญหาการตึงตัวในกระบวนการผลิตและต้นทุนขนส่งทางเรือจะสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าของหมวดที่อยู่ทั้งในและนอกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอย่างชัดเจนไปจนถึงไตรมาส 3 ก่อนจะเบาลงในช่วงปลายปี