ไทยยังเหนียว! ผู้ว่าแบงก์ชาติมั่นใจพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแกร่ง แต่ฟื้นตัวช้าจากโควิด-19 ระบาดแรง

351
0
Share:

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะใช้เวลานาน (slow) และไม่เท่ากัน (uneven) ที่ไทยฟื้นตัวช้า เพราะพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าที่สุด และคาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าการกระจายวัคซีนของไทยจะทำได้ครอบคลุมประชากรส่วนมาก ส่วนการฟื้นตัวที่จะไม่เท่ากัน เห็นได้จากกิจกรรมในภาคการส่งออกสินค้าที่ฟื้นกลับมาเหนือระดับก่อนการระบาดของ Covid-19 แล้ว ขณะที่ภาคบริการยังถูกกระทบรุนแรงต่อเนื่อง

แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบหนัก แต่เสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงมาตลอดทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงมีจำกัด (limited downside risks)

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย สะท้อนใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีเนื่องจากไทยมีหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำ ประกอบกับระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูงต่อเนื่อง 2) เสถียรภาพด้านสถาบันการเงิน โดยธนาคารพาณิชย์ยังมีงบการเงินที่เข็มแข็ง ช่วยให้ภาคธนาคารยังสามารถรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ (shock absorber) และ 3) เสถียรภาพด้านการคลังของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยรัฐบาลไทยยังสามารถกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมั่นคง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ยืนยันว่า เศรษฐกิจในโลกหลังวิกฤติ นอกจากมาตรการเพื่อตอบสนองวิกฤติเฉพาะหน้าแล้ว ธปท. ยังมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ยั่งยืนขึ้น เช่น การพักหนี้อาจเหมาะสมในระยะสั้น แต่เป็นภาระลูกหนี้ในระยะยาว ธปท. จึงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถผ่านพื้นวิกฤติไปได้ด้วยกันในระยะถัดไป ธปท. ยังคำนึงถึงโลกหลัง Covid-19 ซึ่งบริบทของเศรษฐกิจทั่วโลกจะมีลักษณะ  1) คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Greener) และ 2) มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น (more Digital) โดยในด้านสิ่งแวดล้อม (green) ธปท. อยู่ระหว่างการผลักดันภาคธนาคารพาณิชย์ให้มีการให้เงินกู้อย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำลังพัฒนาในเรื่องของมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล (disclosure standards) และการพัฒนาในด้านคำนิยามด้านสิ่งแวดล้อม (green taxonomy) เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติได้โดยเร็ว