ไทยเตรียมประกาศโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย

1141
0
Share:

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานการณ์ในไทยตอนนี้ มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 18 ราย กลับบ้านแล้ว 17 ราย รวมสะสม 35 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,052 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 863 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งอาการผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤต 2 รายอาการยังคงทรงตัว
.
แต่ไทยไม่มีนโยบายกักกันผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งเครื่องบินพาณิชย์ และเรือสำราญ ซึ่งหากมายังไทย ยังคงต้องผ่านการคัดกรองตั้งแต่สนามบิน เพื่อค้นหาผู้ที่อาจติดเชื้อ เกณฑ์ คือ หากมีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียลขึ้นไป และมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ จะถูกนำตัวเข้าสู่การรักษา และเฝ้าระวังเร็ว ส่วนคนที่ไม่มีอาการให้กลับบ้าน แต่ยังคงเฝ้าระวังอาการ 14 วัน หากป่วยให้รีบมาพบแพทย์
.
โดยยืนยันว่า ปัจจุบันการติดเชื้อโควิด 19 ยังคงมาจากละอองฝอยขนาดใหญ่ไอ จาม ที่อยู่ในระยะใกล้ชิด และการสัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรง ประชาชนทั่วไปยังไม่ถึงกับติดจากละอองฝอยขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในผู้ป่วยวัณโรค หากโอกาสที่จะติดจากละอองฝอยขนาดเล็กยังคงอยู่ในกลุ่มของหัตกรรมทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีโอกาสใกล้ชิดสัมผัสกับผู้ป่วย
.
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงมีข้อเสนอประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ว่า กระบวนการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายนั้น ในส่วนของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการแล้ว และกำลังจะร่างประกาศเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ในวันจันทร์ที่ 24 ก.พ.2563 ซึ่งคาดว่าจะลงมติเห็นชอบในวันนั้นให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันรู้จักโรคมากขึ้น และหลายประเทศก็ยกระดับให้โรคนี้มีความสำคัญมากกว่าโรคติดต่อทั่วไป
.
ส่วนกรณีที่สำนักงานบริหารผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งชาติของจีน ได้ให้การรับรองยาต้านไวรัส Favilavir และนับเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ตัวแรกที่ได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการ นพ.โสภณ เผยว่า ในประเทศไทย ได้มีการใช้ตัวยาดังกล่าวในคนไทย 2 ราย ที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้ผลดีแต่ต้องรอผลการประเมินอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ ตัวยาต้านไวรัส Favilavir เป็นยานำเข้าที่ไทยนำมารักษาในผู้ป่วยติดเชื้อโรคอื่น