ไทยเอาไง! ราคาข้าวตลาดโลกมีพุ่งสูงกว่า 60% รับอินเดียขึ้นภาษีส่งออกข้าว

646
0
Share:
ไทยเอาไง! ราคาข้าว ตลาดโลกมีพุ่งสูงกว่า 60% รับอินเดียขึ้นภาษีส่งออกข้าว

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC เปิดเผยการวิเคราะห์ผลกระทบจากความเป็นไปได้ด้านนโยบายข้าวของอินเดียเป็น 2 กรณี เนื่องจากนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียยังมีความไม่แน่นอนสูง EIC จึงทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากพัฒนาการของนโยบายที่อาจเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ (1) อินเดียดำเนินนโยบายตามที่ได้ประกาศออกมาในปัจจุบันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงช่วงเดือนตุลาคม 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ของอินเดียจะออกสู่ตลาด และ (2) อินเดียมีการออกนโยบายระงับการส่งออกข้าวเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมถึงข้าวเปลือก ข้าวนึ่ง ข้าวขาว และข้าวกล้องด้วย และมีการดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนตุลาคม 2023 เหมือนกับกรณีแรก

โดยผลการศึกษาพบว่า นโยบายของอินเดียจะส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวโลกใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ นโยบายระงับการส่งออกข้าวจะส่งผลให้ปริมาณข้าวของอินเดียหายไปจากตลาดโลก ขณะที่นโยบายจำกัดการส่งออกข้าวด้วยการเก็บภาษีจะส่งผลให้ราคาข้าวของอินเดียในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นและเสียเปรียบด้านการแข่งขันด้านราคา EIC พบว่า นโยบายของอินเดีย ในกรณีที่ 1 และ 2 จะกระทบต่อปริมาณการค้าข้าวโลกคิดเป็นสัดส่วน 18.3% และ 33.5% ของปริมาณการค้าข้าวโลก ตามลำดับ

โดย EIC คาดว่า ในกรณีที่ 1 ราคาข้าวโลกในปี 2023 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.8%YOY ขณะที่ในกรณีที่ 2 ราคาข้าวโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 66.3%YOY โดย เซเนกัล จีน บังกลาเทศ เบนินและเนปาล จะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุดจากนโยบายระงับและจำกัดการส่งออกข้าว เนื่องจากพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากอินเดียในระดับสูง ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกข้าว อย่าง ไทย เวียดนามและปากีสถาน จะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการที่ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นและความต้องการนำเข้าเพื่อทดแทนข้าวอินเดียที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์สูงที่สุด จากการเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก

นโยบายส่งออกข้าวของอินเดียจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย ผ่านช่องทางราคาและปริมาณการส่งออก โดย กรณีที่ 1 ราคาข้าวเปลือกเจ้าของไทยในปี 2023 จะปรับตัวเพิ่มขั้น 11.1% เทียบช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว กรณีที่ 2 ราคาข้าวเปลือกเจ้าของไทยอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 46.5% เทียบช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว

ในขณะเดียวกัน ราคาขายปลีกข้าวขาวของไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.7%YOY และ 36.4% เทียบช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ในกรณีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ในส่วนของผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกข้าวของไทย พบว่า ปริมาณการส่งออกข้าวจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.4% และ 73.0% โดยเทียบช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว

ในกรณีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ โดยราคาข้าวเปลือกและปริมาณการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โรงสีและผู้ส่งออกข้าว ในขณะที่ราคาขายปลีกข้าวในประเทศที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อข้าวที่เพิ่มขึ้น ความต้องการข้าวไทยในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจากนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมข้าวไทย ควรจะร่วมมือกันใช้โอกาสนี้ในการดึงส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกกลับคืนมา ซึ่งการที่จะสามารถดึงส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกกลับมาได้อย่างยั่งยืนนั้น ผู้เล่นในอุตสาหกรรมข้าวไทย จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงของปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต