‘ไพบูลย์ นลินทรางกูร’ชี้หุ้นไทยรับผลบวกวัคซีนโควิดปรับขึ้นถึง 15 %

634
0
Share:
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊ค เรื่อง ตลาดทุนจะช่วย SME ได้อย่างไรบ้าง ว่า ช่วงที่ผ่านมา เริ่มเกิดความหวังว่าเศรษฐกิจโลกมีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าคาด หลังบริษัทผลิตวัคซีน 3 แห่ง ประกาศผลการทดสอบวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ส่งผลให้ประเทศอังกฤษและสหรัฐฯ เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้ว และน่าจะมีอีกหลายประเทศตามมา
.
ตลาดหุ้นทั่วโลกขานรับข่าวดีเรื่องวัคซีนกันถ้วนหน้า ในระยะหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับขึ้นโดยเฉลี่ย 5% หลายตลาดหุ้นปรับขึ้นมากกว่า 10% เช่น โปรตุเกส (+13%) รัสเซีย (+11%) สเปน (+10%) ตลาดหุ้นในเอเชียก็บวกค่อนข้างมาก เช่น เกาหลีใต้ (+12%) อินโดนีเซีย (+11%) ไต้หวัน (+9%)
.
ที่มาแรงที่สุดคือตลาดหุ้นไทย ที่ปรับขึ้นถึง 15% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราซบเซากว่าตลาดหุ้นอื่นๆ อยู่นานเกือบตลอดทั้งปี จึงทำให้เกิดแรงซื้อและเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก อีกทั้งหุ้นเกือบทั้งหมดในตลาดหุ้นไทย คือหุ้น Cyclical หรือหุ้นที่เคลื่อนไหวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของนักลงทุน
.
ที่น่าสนใจ คือนักลงทุนแทบไม่สนใจสถานการณ์โควิดที่ยังแพร่ระบาดหนักทั่วโลก โดยมียอดติดเชื้อสูงถึงวันละ 6-7 แสนคน เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะสภาพคล่องจำนวนมหาศาลที่ยังคงถูกอัดฉีดเข้ามาในตลาดการเงินโดยธนาคารกลางทั่วโลก จนสร้างแรงกดดันให้นักลงทุนต้องมองภาพการลงทุนที่ยาวขึ้น และถือครองสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงขึ้น
.
สำหรับประเทศไทย การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของของตลาดหุ้น ในมุมหนึ่งอาจทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดูดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง ภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ และถึงแม้จะเริ่มมีการผลิตวัคซีนแล้ว ก็น่าจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 18 เดือน ก่อนที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) จะฟื้นกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด
.
ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือธุรกิจ SME โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยว ที่อาจไม่มีสายป่านยาวพอที่จะรอได้นานขนาดนั้น ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือ SME เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ของธนาคารออมสิน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ของ บสย. มาตรการพักชำระหนี้ ของแบงก์ชาติ ฯลฯ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะดูแล SME ได้ทั้งหมด
.
หลายคนเริ่มตั้งคำถามมาที่ฝั่งตลาดทุนว่ามีแนวทางอะไรที่จะช่วยเหลือ SME ได้บ้าง? ในภาวะดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องท่วมระบบอย่างในปัจจุบัน ตลาดทุนมีศักยภาพเหลือล้นในการเป็นแหล่งทุนสำหรับภาคธุรกิจ แต่อุปสรรคใหญ่ที่สุดคือความไม่คุ้นเคยของนักลงทุนไทยในการลงทุนในกิจการ SME และที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีการออกกองทุนเพื่อไปลงทุนในหุ้นกู้ หรือหุ้นทุน ของ SME
.
ถ้าภาครัฐต้องการใช้ตลาดทุนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ SME อาจจำเป็นต้องมีการให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้แก่ผู้ลงทุนในกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุน และอาจต้องมีกลไกรัฐในการช่วยค้ำประกันความสูญเสียจากการลงทุนในหุ้นกู้ SME ในระดับหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงของกองทุนให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
.
แนวคิดเบื้องต้น คือการจัดตั้งกองทุนรวมแบบปิด อายุ 10 ปี เพื่อระดมทุนจากสถาบันการเงินและประชาชนทั่วไป โดยนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดย SME ที่มีประวัติดี แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากวิกฤติโควิด
.
กองทุนนี้จะถูกออกแบบให้เป็นประเภท “กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น” โดยนำเงินที่ระดมทุนได้ส่วนหนึ่งไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล Zero-coupon อายุ 10 ปี – วิธีนี้จะทำให้ผู้ลงทุนได้รับเงินลงทุนเบื้องต้นคืนทั้งหมดหลังครบกำหนดอายุกองทุน – หลังจากนั้นจึงนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนในหุ้นกู้ของ SME
.
หัวใจสำคัญคือการคัดสรรหุ้นกู้เพื่อเข้าลงทุน โดยกองทุนอาจจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ธุรกิจ SME มาช่วยประเมินความเสี่ยง
.
ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับตอนครบกำหนดอายุกองทุน จะขึ้นอยู่กับศักยภาพของ SME ที่กองทุนเข้าลงทุน ว่าจะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาแข็งแรงเหมือนช่วงก่อนโควิดหรือไม่
.
การจัดตั้งกองทุนรูปแบบนี้น่าจะสร้างแรงจูงใจได้พอสมควร เพราะนักลงทุนไม่ต้องกังวลว่าจะสูญเสียเงินต้น และยังได้ผลตอบแทนขั้นต่ำสุดในรูปของเม็ดเงินภาษีที่ประหยัดอีกด้วย ถ้ารัฐยอมให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้