ไม่พุ่งมาก! พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือน ต.ค. ขยายตัว 5.98% เพิ่มในอัตราชะลอตัว

212
0
Share:
ไม่พุ่งมาก! กระทรวงพาณิชย์ เผย เงินเฟ้อ เดือน ต.ค. ขยายตัว 5.98% เพิ่มในอัตราชะลอตัว

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนต.ค.65 อยู่ที่ 108.06 เพิ่มขึ้น 5.98% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.33% จากเดือน ก.ย.65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 6.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนต.ค.65 อยู่ที่ 103.78 เพิ่มขึ้น 3.17% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.05% จากเดือนก.ย.65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนต.ค.นี้ เพิ่มขึ้น 5.98% เป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน และ สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก และสินค้าในกลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อสุกร และไก่สด จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จึงทำให้ราคาปรับลดลง ขณะที่ผักสด ยังมีราคาสูงขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้แหล่งเพาะปลูกได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ราคาผักสดเริ่มมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยกันดูแลค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงการกำกับดูแลและควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงเข้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนก.ย.65) ยังคงอยู่ในระดับสูง และสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งประเทศในอาเซียน เช่น ลาว สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ และประเทศสำคัญ เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี และอินเดีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา โดยในส่วนของประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อสูงอยู่ในลำดับที่ 107 จากทั้งหมด 135 ประเทศ ซึ่งถือว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเดือนพ.ย.ประเมินว่าสถานการณ์เงิอนเฟ้อจะชะลอตัวตามราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการที่ชะลอตัวลง และบางรายการราคาทรงตัว แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย จะส่งผลให้สินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดมากขึ้น