ไอเอ็มเอฟชี้ชัดสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ทำเศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัวช้ากว่าเดิม

379
0
Share:
เศรษฐกิจ

นายชางหยง รีห์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เปิดเผยว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟดตัดสินใจเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างรวดเร็ว และใช้มาตรการที่ตึงตัวมากขึ้น จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเอเชีย

ในขณะนี้สถานะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ พบว่ามีระดับสูงในหลายประเทศในแถบเอเชียเมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2013 อย่างไรก็ตาม ภาวะหนี้สาธารณะที่มีสูงในประเทศแถบเอเชียได้กลายเป็นปัญหาที่น่าจับตามอง

สถานะหนี้ของประเทศในทวีปเอเชียเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหลังจากปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐอเมริกา โดยมีสัดส่วนหนี้พุ่งทะยานเป็น 27% ของหนี้ทั่วโลก แต่ในปีที่ผ่านมา สัดส่วนภาระหนี้ดังกล่าวทะยานขึ้นมาเป็นเกือบ 40% ของหนี้ทั่วโลก

ดังนั้น การเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟด กลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ของเอเชียจะเผชิญกับความยากลำบากจากภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายออกอย่างรุนแรง และค่าเงินในประเทศจะเกิดภาวะร่วงอ่อนค่าอย่างมาก ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันอย่างมากกับธนาคารกลางในแต่ละประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียที่จะต้องตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น แนวโน้มเช่นนี้จะทำให้เกิดภาวะช็อคกับตลาดเงิน แต่สิ่งสำคัญที่สุด และชัดเจน คือจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียชะลอออกไปอีก

ขณะที่เมื่อคืนที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟเปิดเผยรายงานมุมมองภาวะเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Outlook 2022 ว่า ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปี 2565 ลงมาเหลือ 4.4% และปี 2566 ปรับลดลงมาเหลือที่ระดับ 3.8% สะท้อนภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่องถึง 2 ปีติดต่อกัน ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2564 ขยายตัวที่ระดับ 5.9%

ไอเอ็มเอฟ เปิดเผยต่อไปว่า ปัจจัยลบที่กดดันภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ไม่เพียงชะลอตัวถึง 1.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ยังเป็นตัวเลขคาดการณ์จีดีพีที่ปรับลดลงจากเดิมที่ประเมินไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 มากถึง 0.5% ได้แก่ การพบการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอไมครอน และความผันผวนสูงมากของตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นมา

ไอเอ็มเอฟ ประกาศปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกในปีนี้ลดลงจากตัวเลขเดิม สหรัฐอเมริกาจะมีภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากเดิมที่ 5.2% เหลือเพียง 4.0% สาเหตุจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงิน นอกจากนี้ ความล้มเหลวของรัฐบาลสหรัฐที่ไม่สามารถผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับนโยบายการคลังที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจมีชื่อว่า Build Back Better

ในขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีของจีนแผ่นดินใหญ่ลงจากเดิมที่ 5.6% มาเหลือเพียง 4.8% สาเหตุจากรัฐบาลจีนยึดมั่นในนโยบายไม่อยู่ร่วมกับโรคระบาดโควิด-19 ภาวะตลาดการเงินในประเทศที่เปราะบางสูงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ประสบวิกฤตหนี้พุ่งสูง

ปัจจัยสำคัญต่อมา ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อโลกพุ่งสูงอย่างก้าวกระโดด และราคาพลังงานที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์เงินเฟ้อนั้น ไอเอ็มเอฟยอมรับว่าเงินเฟ้อมีภาวะเพิ่มสูงต่อเนื่องมากกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่อาจลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีถัดไป

สำหรับในปี 2566 นั้น แม้ไอเอ็มเอฟจะประเมินตัวเลขคาดการณ์จีดีพีไว้ที่ 3.8% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.2% จากตัวเลขเดิมที่ 3.6% ในเดือนตุลาคม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขจีดีพีในปี 2565 พบว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ยังคงขยายตัวต่ำกว่าปี 2565