ไอเอ็มเอฟชี้ปี 66 ยากลำบากกว่าปี 65 จีนส่อโตต่ำกว่าเศรษฐกิจโลกในรอบกว่า 40 ปี

201
0
Share:
ไอเอ็มเอฟ ชี้ปี 66 ยากลำบากกว่าปี 65 จีนส่อโตต่ำกว่า เศรษฐกิจโลก ในรอบกว่า 40 ปี

นางคริสทารีนา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ กล่าวในคืนผ่านมาว่า เศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่ของทั่วโลกในปี 2023 จะเผชิญกับความยากลำบากหนักหน่วงกว่าปี 2022 นอกจากนี้มากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกจะตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย สาเหตุจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักและขนาดใหญ่ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีนแผ่นดินใหญ่ และสหภาพยุโรป ล้วนชะลอตัวลงพร้อมกันและชะลอตัวมากกว่าในปี 2022 ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าในการปรับตัว ดังนั้นสหรัฐอเมริกาอาจจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ สาเหตุจากในปัจจุบันตลาดแรงงานชาวอเมริกันในสหรัฐอเมริกายังคงแข็งแกร่งถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นที่สูงสุดมาอยู่ที่ 4.25-4.50% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปีในปีผ่านมาก็ตาม

ขณะที่จะเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 40 ปีที่เศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่จะขยายตัวเท่ากับ หรืออาจต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 โดยเฉพาะในช่วงระยะสั้นถึงกลางปีนี้ จำนวนประชาชนชาวจีนติดโรคระบาดโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดกลายเป็นข่าวร้ายของเศรษฐกิจโลก

ด้านเศรษฐกิจกลุ่มสหภาพยุโรปในปีนี้ พบว่า ครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของจำนวนประเทศสมาชิกทั้ง 27 ชาติในอียูจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ กล่าวต่อไปว่าในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่จะตกอยู่ในภาวะยากมากขึ้น และผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบในภูมิภาคเดียวกันกับจีนแผ่นดินใหญ่จะเป็นไปในทางลบ ส่งผลกระทบทางลบไปยังเศรษฐกิจโลกในปีนี้

นางคริสทารีนา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ยังกล่าวว่าในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum 2023 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ มีความเป็นไปได้ที่ไอเอ็มเอฟจะทบทวนตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่ลงอีกครั้ง

สำหรับภาวะเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในปี 2023 นั้น ไอเอ็มเอฟประเมินว่าจะมีความเสี่ยงสูงมากยิ่งขึ้นจากผลพวงของภาวะหนี้กู้ยืมต่างประเทศอยู่ในระดับสูงมากควบคู่กับแรงกดดันของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะแข็งค่าต่อไปในปีนี้