‘2 ยักษ์โรงกลั่น’ ออกแถลงการณ์ ปมกำไรจากค่าการกลั่นน้ำมัน

373
0
Share:
ค่าการกลั่นน้ำมัน

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า จากประเด็นที่มีการกล่าวถึงกำไรของธุรกิจโรงกลั่นกันอย่างกว้างขวางในระยะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในการเปิดโอกาสให้มีการระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูลอันนำไปสู่ข้อเท็จจริง และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์พลังงานที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงของความแตกต่างระหว่าง “ค่าการกลั่น”กับ“กำไร” ของโรงกลั่น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน กล่าวคือ ค่าการกลั่น หรือ Gross Refining Margin (GRM)เป็น “ดัชนีเบื้องต้น” เพื่อใช้ดูทิศทางหรือแนวโน้มผลประกอบการของโรงกลั่น โดยอาศัยหลักการคำนวณค่าการกลั่นจาก ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดที่โรงกลั่นผลิตได้ หักลบกับต้นทุนการผลิตเบื้องต้นที่โรงกลั่นใช้ในการผลิต เช่น ต้นทุนน้ำมันดิบ ค่าขนส่ง ส่วนโรงกลั่นในประเทศใด จะหักลบ ค่าประกันภัย ค่าเชื้อเพลิง ค่าน้ำ/ไฟ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนิยามและแนวปฏิบัติของโรงกลั่นในแต่ละประเทศ

ค่าการกลั่น จึงเป็นเพียงดัชนีเบื้องต้นและไม่ใช่กำไรที่แท้จริงของ โรงกลั่น เนื่องจากไม่ได้หักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่ใช้ในการผลิตและการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละโรงกลั่น เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าบำรุงรักษาเป็นต้น ตามมาตรฐานทางบัญชีและการค้าทั่วไป ซึ่งค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินการเหล่านี้จะแปรผันไปตามกลไกตลาดเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมีการปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ

“ช่วงนี้แม้จะดูว่าค่าการกลั่นสูงแต่ก็ต้องดูถึงต้นทุนอื่นๆสูงไปด้วยโดยเฉพาะค่าพรีเมียมที่สูงถึง7-11เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล.เป็นผลจากน้ำมันตึงตัวและสงครามรัสเซีย-ยูเครนและความผันผวนในช่วงครึ่ง​ปีหลังก็ไม่ชัดเจนเป็นความเสี่ยงที่ต้องดูกันถึงปิดงวดสิ้นปี.จะดูเป็นช่วงๆไม่ได้และโรงกลั่นฯก็เป็นบจ.ในตลาด​หลักทรัพ​ย์ฯดำเนินการก็ต้องคำนึงถึง​ผู้ถือหุันด้วยเราก็ได้ชี้แจงกับภาครัฐ​ไปแล้วก็คาดว่าสิ่งที่รัฐจะตัดสินใจจะดูถึงผลรอบด้านซึ่งแม้มีความเชื่อแต่ก็ควรยึดข้อเท็จจริงโดยตามทึ่มีข่าวว่าอังกฤษจะประกาศใช้ภาษีลาภลอย​ก็ทราบว่ายังไม่ได้ประกาศใช้เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบวงกว้างเช่นกัน”นายชวลิตกล่าว

สำหรับด้าน นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) สำหรับธุรกิจโรงกลั่นของ GC มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ซึ่งปัจจุบันกำไรจากธุรกิจปิโตรเคมีได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบที่มีราคาสูง และความต้องการในตลาดมีแนวโน้มลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ดังจะเห็นได้จากผลประกอบการในปี 2565 ที่มีแนวโน้มลดลงจากปี 2564 โดยผลประกอบการของโรงกลั่นในปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

“ตามที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับกำไรของธุรกิจโรงกลั่นในประเทศไทยปัจจุบัน ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในกระบวนการผลิตของโรงกลั่นน้ำมัน= จะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลายประเภทในคราวเดียว ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน ก๊าซหุงต้ม (LPG) น้ำมันเตา และแนฟทา ดังนั้น การคำนวณค่าการกลั่นจะต้องพิจารณาจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักราคาของทุกผลิตภัณฑ์ที่กลั่นออกมาจากหอกลั่น เทียบกับราคาน้ำมันดิบที่แต่ละโรงกลั่นสั่งซื้อเข้ามากลั่นจริง ซึ่งต้องรวมค่าพรีเมี่ยมของน้ำมันดิบ และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เช่น ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย“

นอกจากนั้น ในกระบวนการผลิตโรงกลั่นยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ใช้ในการกลั่น เช่น ค่าความร้อน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสูญเสีย อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ค่าบริหารความเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ และความเสี่ยงจากราคาขึ้นหรือลงของสต๊อกน้ำมัน ดังนั้น ค่าการกลั่นจึงไม่ใช่กำไรที่แท้จริงที่โรงกลั่นได้รับ

ปัจจุบันการซื้อขายน้ำมันเป็นธุรกิจการค้าเสรี ราคาซื้อขายเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งราคามีความสัมพันธ์กันทั่วโลก ดังนั้น การควบคุมราคาในประเทศจะทำให้ผู้ผลิตอาจลดกำลังการผลิตหรือส่งออกไปจำหน่ายในตลาดที่ให้ราคาสูงกว่า อันจะเป็นความเสี่ยงให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันในประเทศ และจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศต่อกฎระเบียบการค้าเสรีของไทย อันจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว นอกจากนั้น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่เพียงเกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน

บริษัทเล็งเห็นถึงความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน บริษัทพร้อมให้ความร่วมมือโดยขอให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท