3 กรมภาษี โชว์ผลงานจัดเก็บรายได้เดือนแรกปีงบ 66 กว่า 1.88 แสนล้านบาท

240
0
Share:
3 กรม ภาษี โชว์ผลงานจัดเก็บ รายได้ เดือนแรกปีงบ 66 กว่า 1.88 แสนล้านบาท

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้สุทธิเดือน ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 ว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 232,207 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 33,611 ล้านบาท หรือ 16.9% และสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 19.5%

โดย ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในเดือน ต.ค. 2565 ของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร รวมอยู่ที่ 188,542 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 10,581 ล้านบาท หรือ 5.9% และสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 22,838 ล้านบาท หรือ 13.8% โดยกรมสรรพากร สามารถจัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 135,256 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8,717 ล้านบาท หรือ 6.9% และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน 14,632 ล้านบาท หรือ 12.1% เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าประมาณการตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่ กรมสรรพสามิต สามารถจัดเก็บรายได้รวมในเดือน ต.ค. 2565 อยู่ที่ 36,316 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,306 ล้านบาท หรือ 14.8% และต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน 827 ล้านบาท หรือ 2.2% เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราว จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ด้านกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 16,970 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8,170ล้านบาท หรือ 92.8% และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน 9,033 ล้านบาท หรือ 113%

สำหรับฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 นั้น พบว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 207,874 ล้านบาท เนื่องจากการนำส่งรายได้ของกรมสรรพากรสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบการมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเข้าเป็นรายได้แผ่นดินและมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 487,686 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว จำนวน 22,547 ล้านบาท หรือ 4.4% โดยเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 473,438 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็น 4.1% และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อน จำนวน 14,248 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว คิดเป็น 14.8% โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 50,394 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 375,693 ล้านบาท