3 อดีตรองนายกฯแนะรัฐยังแก้เศรษฐกิจไม่ถูกทาง

857
0
Share:

นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า รัฐบาลควรเร่งดำเนินการดูแลเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อรับมือผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน นั่นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายเข้า ไปในระบบเศรษฐกิจฐานรากได้ทันที ซึ่งดีกว่าการโอนเงินเข้าบัตรคนจนที่มองว่าไม่เกิดผล เปรียบเหมือนเอามดตะนอยไปกัดช้าง เพราะปัจจุบันปัญหาที่เศรษฐกิจไทยเผชิญอยู่ได้รับผลกระทบมีขนาดใหญ่กว่า
.
ที่สำคัญมองว่ารัฐบาลชุดนี้ใช้เงินไม่เป็น เพราะการขึ้นภาษี ทั้งๆที่เงินล้นตลาด สะท้อนจากเงินลงทุนของรัฐบาลยังขยายตัวได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะได้รับผลกระทบจากการติดกฎระเบียบที่กำหนดไว้ หากพิจารณาตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ที่ 42% ต่อจีดีพี แสดงว่าปัจจุบันรัฐบาลกู้เงินใช้ลงทุนน้อยมาก โดยส่วนตัวมองว่าหนี้สาธารณะสามารถเพิ่มขึ้น 50-60% ซึ่งไม่เป็นอันตราย เพราะมีดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ และตามหลักการแล้วหนี้ของรัฐบาลไม่ควรจะต่ำกว่า 70% ของจีดีพี หากต่ำกว่านี้แสดงว่านักเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาลชุดนี้ไม่เก่งพอ ประกอบกับรายได้ของรัฐบาลถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในโลก คิดเป็น 16% ต่อจีดีพี ซึ่งตามหลักแล้วควรจะเกินที่ระดับ 20% ต่อจีดีพี
.
ด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของนายวีรพงษ์ หากมีการจ่ายเงินโดยตรงให้กับเกษตรกร จะช่วยยกระดับการใช้จ่ายระดับชนบทเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น จากเดิมอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และมองว่าสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรประมาณ 3.6 ล้านครอบครัวมีบัญชีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่แล้ว แต่ก็ต้องจำกัดขนาดพื้นที่ในการพิจารณาจ่ายเงินต้องไม่สูงเกินไป แต่ขณะนี้กำลังรอดูนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในการขับเคลื่อนและยกระดับราคาสินค้าเกษตร ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ได้ดูแล 2 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกัน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
.
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องทำงานร่วมกัน เพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ซ้ำเติมภาคส่งออก จากอัตราค่าเงินบาทแข็งค่า โดยเฉพาะไม่ควรดึงเงินลงทุนระยะสั้นมาเก็งกำไรค่าเงิน ส่วนมาตรการภาครัฐที่กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านภาคการท่องเที่ยวให้เงิน 1,000 บาท หากปรับแนวคิดให้วีซ่ากับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ หรือบางประเทศไม่ต้องมีวีซ่า เชื่อว่าจะกระตุ้นได้ตรงจุดมากกว่า