66 วัน วิกฤตทะเลแดง กระทบการค้า ส่งออกไปตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาเหนือ สหรัฐ

173
0
Share:
66 วัน วิกฤตทะเลแดง กระทบ การค้า ส่งออก ไปตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาเหนือ สหรัฐ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่กลุ่มฮูตีในเยเมน โจมตีและยึดเรือสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับอิสราเอลซึ่งแล่นผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบ (Bab-el-Mandeb) ในทะเลแดง เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2566 เพื่อแสดงการต่อต้านอิสราเอลที่ทำสงครามในฉนวนกาซา จนทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตร ประกาศจัดตั้งกองกำลัง Operation Prosperity Guardian เพื่อปกป้องการเดินเรือบริเวณทะเลแดง แต่กลุ่มฮูตีก็ยังคงยืนกรานว่าจะโจมตีเป้าหมายต่อไปจนกว่าสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซาจะยุติลง ซึ่งเหตุการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลแดงซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญของโลก ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือขนส่ง และหากเหตุการณ์ยังคงยืดเยื้อ ก็อาจกระทบกับห่วงโซ่อุปทานสินค้าต่างๆ รวมถึงน้ำมันดิบทั่วโลก

ทะเลแดงซึ่งเชื่อมต่อกับคลองสุเอซเป็นเส้นทางการค้าหลักระหว่างเอเชียกับยุโรป และยังครอบคลุมเส้นทางการค้าทางทะเลประมาณ 12% ของโลก โดยหลังเกิดเหตุโจมตีเรือขนส่งสินค้าทำให้บริษัทเดินเรือขนส่งสินค้าทั่วโลกระงับการเดินเรือในเส้นทางทะเลแดง และเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่นที่ใช้ระยะเวลาขนส่งยาวนานขึ้น ผลักดันให้ค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้นในหลายเส้นทาง ไม่เพียงแต่เฉพาะค่าระวางเรือที่ผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซเท่านั้น ซึ่งผลกระทบจากสถานการณ์ข้างต้นทำให้สินค้าจากไทยที่จะไปยังตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาเหนือ รวมถึงสหรัฐฯ ฝั่งตะวันออกบางส่วน ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น

โดยข้อมูลอัตราค่าระวางเรือ ณ สัปดาห์ที่ 2 ของปี 2567 จากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย พบว่า ค่าระวางเรือในเดือน ม.ค. 67 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 66 ทั้งในเส้นทางไทย-Jebel Ali (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เส้นทางไทย–ยุโรป (Main Port) เส้นทางไทย–สหรัฐฯ ฝั่งตะวันตก และเส้นทางไทย–สหรัฐฯ ฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะเส้นทางไทย-ยุโรป ที่ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นถึง 252% สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต และ 196% สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ 40 ฟุต มาอยู่ที่ 3,200–4,500 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ผู้ส่งออกสินค้ายังเผชิญกับค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มอื่น ๆ อาทิ ค่าธรรมเนียมการหยุดชะงักของระบบขนส่ง ค่าบริการเพิ่มเติมในช่วงหนาแน่น และค่าธรรมเนียมฉุกเฉิน เป็นต้น

ผอ.สนค. กล่าวว่า ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เริ่มมาจากสงครามอิสราเอล-ฮามาสในฉนวนกาซา จนมาถึงวิกฤตการณ์ในทะเลแดง เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าสงครามมีโอกาสขยายวงไปยังพื้นที่อื่นๆ

“สถานการณ์ในพื้นที่ตะวันออกกลางมีแนวโน้มจะยืดเยื้อกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า การสู้รบมีโอกาสขยายวงออกนอกพื้นที่ฉนวนกาซา ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น หลังกลุ่มติดอาวุธในภูมิภาคเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการเจรจาพักรบชั่วคราวและแลกเปลี่ยนตัวประกันระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส แต่ตราบใดที่อิสราเอลยังไม่ยุติปฏิบัติการในฉนวนกาซา สงครามพร้อมที่จะปะทุขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ดังเช่นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลแดงซึ่งกระทบการขนส่งสินค้าทั่วโลก ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะหากสงครามลุกลามจะผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นวงกว้าง โดย สนค. รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางการดูแลแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้”