7 ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐ ยื่นรัฐบาลกลางสหรัฐให้ขึ้นภาษีนำเข้าโซลาร์เซลล์จากไทย และอีก 3 ชาติอาเซียน

41
0
Share:
7 ผู้ผลิตแผง โซลาร์เซลล์ ในสหรัฐ ยื่นรัฐบาลกลางสหรัฐให้ขึ้นภาษีนำเข้าโซลาร์เซลล์จากไทย และอีก 3 ชาติอาเซียน

บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมแผงพลังงานไฟฟ้า หรือโซลาร์เซลล์ ทั้ง 7 แห่งในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เฟิร์สท โซลาร์, คอนวาลท์ เอนเนอยี่, เมเยอร์ เบเกอร์, มิชชั่น โซลาร์, คิวเซลล์, อาร์อีซี ซิลลิคอน และสวิฟท์ โซลาร์ รวมตัวกันยื่นคำร้องเรียนไปยังรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อให้พิจารณาและดำเนินการมาตรการภาษีศุลกากรด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับแผงโซลาร์เซลล์ที่นำเข้าจาก 4 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม

บริษัทฯ ทัั้งหมด 7 แห่ง ระบุเหตุผลว่า 4 ประเทศในอาเซียนดังกล่าวทำการทุ่มตลาดสินค้าโซลาร์เซลล์ด้วยปริมาณ หรือจำนวนมาก และมีราคาถูกที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงเป็นการคุกคามอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ภายในประเทศสหรัฐอเมริกา การกระทำดังกล่าวนั้น โดยเฉพาะการใช้ราคาถูกที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต หรือได้รับประโยชน์จากมาตรการอุดหนุนราคา ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจนี้ได้

นอกจากนี้ บริษัทฯทั้ง 7 แห่งในสหรัฐอเมริกาได้เสนอไปยังคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกา หรือ ITC พิจารณาคำตัดสินว่าอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ภายในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับความเสียหายเป็นอันตราย นอกจากนี้ ยังได้ยื่นเรื่องร้องขอไปยังกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ให้พิจารณาดำเนินการใช้มาตราตอบโต้ภาษีนำเข้ากับทั้ง 4 ประเทศในอาเซียน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ผลิตภายในประเทศ

บริษัทเอกชนหลายแห่ง ซึ่งอาจตกเป็นเป้าหมายในการสอบสวนของทั้งกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา และคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกา หรือ ITC นั้น ปรากฏว่ามีการตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศจีน ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวหารัฐบาลจีนใช้มาตรการอุดหนุนผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road ให้กับบริษัทเอกชนที่อยู่ในประเทศกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม

ทั้งนี้ การสอบสอนของทั้งกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา และคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกา หรือ ITC จะใช้เวลาประมาณ 12 เดือน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ดังนั้น ระยะเวลาที่เร็วที่สุดที่จะใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้ากับทั้ง 4 ประเทศอาเซียน จะเกิดขึ้นหลังจากกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ประกาศตัดสินเบื้องต้น ซึ่งจะใช้เวลาราว 4-6 เดือน