99 นักเศรฐศาตร์พ่วงอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ค้านเงินดิจิทัลสุดซอย ชี้ไม่มีใครเสกเงินได้

183
0
Share:
99 นักเศรฐศาตร์พ่วงอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ค้าน เงินดิจิทัล สุดซอย ชี้ไม่มีใครเสกเงินได้

กลุ่มนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้ว่าการ และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวม 99 คน ได้ร่วมลงชื่อเพื่อคัดค้านนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท พร้อมระบุเหตุผล มีข้อความดังนี้

นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์มีความเห็นพ้องต้องกันที่จะเรียกร้องให้รัฐบาล ‘นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท’ เพราะเป็นนโยบายที ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) เศรษฐกิจ กำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวโดยสำนักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปีนี้และร้อยละ 3.5 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้น การบริโภคภายในประเทศ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึงร้อยละ 7.8 ซึ่งสูงที่สุดใน 20 ปี คิดเป็นกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ย 10 ปี คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 6.1และ 4.6 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและ การส่งออกมากกว่า

นอกจากนี้การกระตุ้น การใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้ เกิดเงินเฟ้อสงูขึ้นมาอีก หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ในปีนี้ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้จะทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation) สูงขึ้นและอาจนําไปสู่สภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

2) เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทนี้ ทําให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการสร้าง digital infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นต้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาว แทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญ คือการใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

3) การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัวโดยรัฐแจกเงินจํานวน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะปัจจุบันข้อมลูเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการ คลังสำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิงที่เลื่อนลอย

ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปใดก็ตาม สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และ/หรือ ราคาสินค้าแพงขึ้นเพราะเงินเฟ้ออันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน

4) เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคน ทั้งประเทศต้องเผชิญ กับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น หนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 ของรายได้ ประชาชาติ (GDP) จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่ายคืนหรือกู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี นี่ยังไม่นับ จำนวนเงิน ค่าดอกเบี้ยที่ เพิ่มขึ้นจากการแจกเงิน digital คนละ 10,000 บาทนี้ด้วย

5) ในช่วงทีโลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างก็จำเป็นที่จะต้องมีการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมาก เพื่อใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หลังจากวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมย์ที่ฉลาดรอบคอบโดยลดการขาดดุลภาครฐัและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation) ทั้งนี้เพื่อสร้าง ‘ที่ว่างทางการคลัง’ (fiscal space) ไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาทนี้ ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับจากภาษีเพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก

การทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสงูขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย

6) การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายทีสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐีที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น

7) สำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจําเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก ‘นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท’ แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้น ให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและ เสถียรภาพการคลังในระยะยาว แม้รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ทำลายความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว หากจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อยก็ควรทำแบบเฉพาะเจาะจงแทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทยและความสามารถในการจัดเก็บภาษีไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น

ทั้งนี้ นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่ร่วมออกแถลงการณ์ในครั้งนี้ เช่น ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รศ.ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เกริกไกร จีระแพทย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น