EIC เปิดผลสำรวจครัวเรือน คนไทยรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มากกว่าครึ่ง ค้างชำระหนี้

188
0
Share:
SCB EIC เปิดผลสำรวจครัวเรือน คนไทย รายได้ ต่ำกว่า 15,000 บาท มากกว่าครึ่ง ค้างชำระหนี้

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ขอนำส่งบทวิเคราะห์ เรื่อง เมื่อคนไทย (ส่วนใหญ่) ยังไม่พร้อม…การเตรียมความพร้อมจึงจำเป็น โดยผู้เขียนบทวิเคราะห์ นายณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์ นักเศรษฐศาสตร์, ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน โดยบทความฉบับนี้ ระบุว่า ….กิจกรรมเศรษฐกิจไทยเพิ่งกลับไปแตะระดับก่อนโควิดเมื่อสิ้นปี 2566 นับว่าไทยเป็นประเทศที่ฟื้นจากวิกฤตโควิดช้าติดกลุ่มรั้งท้ายในโลก มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตช้าตามระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ลดต่ำลงหลังโควิด สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมา โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือน สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเร่งสูงขึ้นมากตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ติดอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และติดอันดับ 7 ของโลก (ข้อมูลธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ณ ไตรมาส 2 ปี 2566) สาเหตุหลักเกิดจากความไม่พร้อมด้านรายได้ของคนไทยที่ฟื้นช้าและไม่ทั่วถึง (K-Shape recovery) คนกลุ่มบนจำนวนน้อยรายได้ฟื้นเร็วและโตดี

ในขณะที่คนกลุ่มล่างจำนวนมากยังฟื้นช้า โตต่ำ และกำลังเผชิญปัญหาทางการเงินในทุกมิติ ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย ภาระหนี้ และเงินออม โดยกลุ่มครัวเรือนที่รายได้ฟื้นช้าไม่พอรายจ่าย ส่วนใหญ่ทำงานในภาคการผลิตมูลค่าไม่สูง คือ ภาคเกษตร (50%) และภาคบริการ (30%) มีหัวหน้าครัวเรือนอายุมากคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% และเรียนจบต่ำกว่าชั้นมัธยมคิดเป็นสัดส่วนถึง 75%

ความไม่พร้อมด้านรายได้ของคนไทยเกิดขึ้นในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ สาเหตุหลักของความไม่พร้อมด้านรายได้ของคนไทยมาจากผลิตภาพแรงงานที่ปรับลดลงเกือบทุกสาขาการผลิตและยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด โดยแรงงานภาคเกษตรมีผลิตภาพต่ำสุด

นอกจากนี้ สัดส่วนแรงงานนอกระบบของไทยยังสูงมากถึง 51% (ปี 2565) ส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตร ภาคบริการและการค้า ซึ่งมีผลิตภาพไม่สูง

SCB EIC ยังประเมินกลุ่มคนรายได้น้อยจะเผชิญปัญหาด้านการเงินอีกนาน โดยจากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2566 (สำรวจ ณ 20 ต.ค. – 3 พ.ย. 2566 จำนวนตัวอย่าง 2,189 คน)พบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยยังมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่มาก และมีแนวโน้มเผชิญปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายสูงสุดถึง 73% และส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้ราว 70% มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต อีกทั้งแนวโน้มข้างหน้ามีความจำเป็นต้องกู้มากขึ้น ส่วนใหญ่จะพึ่งพาเงินกู้นอกระบบมากขึ้น และการกู้ไปชำระหนี้กลายเป็นวัตถุประสงค์หลักของการกู้เงิน

ขณะที่กลุ่มคนรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนกว่าครึ่งหนึ่งประสบปัญหาค้างชำระหนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลจากทั้งรายได้ลดลงมากและค่าใช้จ่ายของครัวเรือนสูงขึ้น คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าคนกลุ่มอื่น รวมทั้งพฤติกรรมการชำระหนี้ของกลุ่มคนรายได้น้อยไม่ค่อยดีนัก โดยกว่าครึ่งมีพฤติกรรมการจ่ายชำระหนี้แค่ขั้นต่ำ หรือจ่ายหนี้ไม่เต็มจำนวน หรือผิดนัดชำระหนี้เป็นบางครั้ง นอกจากนี้ กลุ่มคนรายได้น้อยยังมองว่าสถานการณ์หนี้สินของตนมีแนวโน้มปรับแย่ลงมากกว่าปรับดีขึ้นในช่วง 1 ปีข้างหน้า

SCB EIC ประเมินว่ากลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนจะยังมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายนานกว่า 3 ปี โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ไม่ถึง 7,000 บาทต่อเดือนที่จะเผชิญปัญหานี้ต่อเนื่องนานยิ่งกว่านั้น เป็นสัญญาณว่ากลุ่มครัวเรือนระดับล่างยังเปราะบางและมีแนวโน้มจะเป็นหนี้อีกนาน ส่งสัญญาณว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนยังน่ากังวลในอนาคต

SCB EIC มองหากเศรษฐกิจไทยจะเติบโตสูงขึ้นได้อย่างยั่งยืน และมีระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่กลับมาสูงขึ้นได้อีกครั้ง จำเป็นต้องอาศัยชุดนโยบายระยะสั้นเพื่อช่วยกลุ่มคนเปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัว ควบคู่กับชุดนโยบายระยะยาวเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้คนไทยและป้องกันการกลับมาเป็นหนี้