เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับไปก่อนโควิดช้าออกไปถึงกลางปี 66 พันธุ์โอไมครอนกระทบเศรษฐกิจไทย

636
0
Share:
เศรษฐกิจ ไทยฟื้นตัวกลับไปก่อนโควิดช้าออกไปถึงกลางปี 66 พันธุ์โอไมครอนกระทบเศรษฐกิจไทย

วันนี้ 9 ธันวาคม 2564 ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธนาคารไทยพาณิชย์ กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก ทำให้มีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (output loss) ในระดับสูง และอาจกระทบต่อศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ผ่านการลงทุนและการจ้างงานที่น้อยลง โดยกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับปี 2562 (ก่อน COVID-19) จะต้องรอถึงช่วงกลางปี 2566 นอกจากนี้ ความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังการระบาดของ Omicron เริ่มแพร่กระจายในหลายประเทศ ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากกว่าที่คาดได้

เปิดเผยว่า EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตที่ 3.2% ปรับลดลงจากเดิมที่ 3.4% ตามผลของการระบาด COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ถึงช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า แต่คาดว่าผลกระทบจะน้อยกว่า Delta ในภาพรวม เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึก

ทั้งนี้ EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2564 โตดีกว่าคาดที่ 1.1% จากเดิม 0.7% ตามการระบาด COVID-19 ในประเทศที่เริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และมาตรการควบคุมโรคที่ผ่อนคลายลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง

อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังการเปิดประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจทยอยปรับฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกของไทยขยายตัวได้ในระดับสูงจากทั้งปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้าและการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก แม้ในช่วงปลายปีจะมีสัญญาณชะลอตัวลงบ้างจากการระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ในยุโรปและปัญหาคอขวดอุปทาน (supply bottleneck) ในส่วนของภาครัฐ ยังมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนการบริโภคในประเทศอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับมาตรการพยุงเศรษฐกิจหลายประเภท

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ เช่น (1) การระบาด COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงขึ้น (2) การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นและปัญหาคอขวดอุปทานโลก ส่งผลกระทบทางตรงผ่านกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงและทางอ้อมผ่านภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นเร็วโดยเฉพาะหากธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าคาด (3) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มากกว่าคาดจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และ (4) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง