EIU มองไทยฉีดวัคซีนโควิดไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

547
0
Share:

สถาบันอีไอยู หรือ Economic Intelligence Unit (EIU) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชั้นนำระดับโลกของสื่อดิอิโคโนมิสต์ในยุโรป เปิดเผยแนวโน้มการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ในเอเชียและอาเซียน พบว่าประเทศไทยจะไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 เพื่อทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วประเทศ หรือฉีดให้ได้ระหว่าง 75-80% ของประชากรทั้งประเทศ ได้ก่อนถึงกลางปี 2565 นั่นหมายถึงต้องใช้ระยะเวลาจากนี้ไปอีก 1 ปี 3 เดือนเป็นอย่างเร็วที่สุด นอกจากนี้ ประเทศเวียดนามก็อยู่ในข่ายเดียวกันกับประเทศไทย ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ตั้งแต่กลางปี 2565 เป็นต้นไป
.
สำหรับประเทศไทยนั้น ขณะที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ผลิตโดยแอสตร้าเซเนก้า-มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดจากอังกฤษ เป็นจำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งมีกำหนดส่งถึงประเทศไทยภายในเดือนเมษายนนี้
.
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนดังกล่าวของแอสตร้าเซเนก้าในเดือนมิถุนายน จากเดิมที่ประกาศว่าคนไทยจะได้รับการฉีดตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ แต่ความสำคัญของศักยภาพในการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไปนั้น สถาบันอีไอยู่กลับมองว่าอยู่ที่ความสามารถในการผลิตวัคซีนดังกล่าวของแอสตร้าเซเนก้า-มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด โดยบริษัทสยามไบโอไซน์แอนซ์ ซึ่งรัฐบาลไทยเปิดเผยว่าแอสตร้าเซเนก้าเป็นผู้เลือกให้เป็นพันธมิตรในการผลิตวัคซีนในประเทศไทย
.
สถานการณ์การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีไทยรวมอยู่ด้วยนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆของทั่วโลกในภาพรวม เนื่องจากมีหลากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น ได้แก่ ข้อจำกัดและข้อบังคับด้านกฎระเบียบรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อของรัฐบาล อัตราการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นในรอบที่ 2 หรือรอบที่ 3 ของแต่ละประเทศ ซัพพลายร่วมผลิตวัคซีนภายในประเทศมีจำกัด และความแตกต่างด้านโครงสร้างประชากรในแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มีประชากรวัยหนุ่มสาวเป็นสัดส่วนที่มากกว่าในภาพรวมทั้งประเทศ ขณะที่ประเทศไทยมีประชากรวัยสูงอายุเป็นสัดส่วนมากกว่าในภาพรวมของประเทศ เป็นต้น
.
ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ให้กับประชาชนเป็นจำนวน 181.5 ล้านคนจากทั้งหมดประมาณ 260 ล้านคน ภายใน 15 เดือนจากนี้ไป แต่กลับต้องเผชิญปัญหาและข้อจำกัด ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานขึ้นถึง 2 เท่า สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ จะเผชิญความล่าช้าในการฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ สาเหตุจากรัฐบาลฟิลิปปินส์มีแผนการจัดซื้อวัคซีนเพียงไม่กี่แผน ดังจะเห็นได้จากการสั่งซื้อวัคซีนเพียง 500,000 โดสทั้งจากแอสตร้าเซเนก้า และไฟเซอร์-ไบออนเทคในเดือนกุมภาพันธ์ และสั่ง 2 ล้านโดสจากวัคซีนซิโนแวคจากจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงระหว่างปัจจุบันถึงต้นปี 2565 ในขณะที่มีประชากรทั้งประเทศราว 108 ล้านคน
.
ด้านประเทศมาเลเซียตั้งความหวังว่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชนจำนวน 32 ล้านคนในระยะเวลา 18 เดือน หรืออีก 1 ปีครึ่งข้างหน้านี้ หลังจากได้รับการจัดส่งวัคซีนในล็อตแรกภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ สำหรับประเทศสปป.ลาว เมียนมา และประเทศที่มีรายได้น้อยอื่นๆ จะไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ทันก่อนปี 2025 หรือ 2568
.
ทั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์เป็นชาติเดียวที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะฉีดวัคซีนครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศได้ภายในเดือนกันยายนปีนี้ หลังจากได้เริ่มฉีดวัคซีนเป็นครั้งแรกในปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยสรุป ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง และมีโอกาสูงมากในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนมากที่สุดเพื่อเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในสิ้นปีนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ถัดจากนั้นไม่นานจะเป็นประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และมาเก๊า