SCB หั่นจีดีพีไทยปีนี้ติดลบ 7.8% จากเดิมติดลบ 7.3% หลังเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าคาด

580
0
Share:

นาย ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/2563 แต่มาตรการปิดเมืองที่เริ่มกลับมาเข้มงวดขึ้นหลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในบางประเทศกลับมาเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอการฟื้นตัว
.
นอกจากนี้การปิดกิจการ และ อัตราการว่างงาน ที่ยังอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศอาจทำให้เกิดแผลเป็นต่อเศรษฐกิจโลก และ กลายเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวในระยะถัดไปได้รวมถึงมาตรการการคลังที่มีส่วนประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมากำลังทยอยหมดอายุลง หรือ ได้รับการต่ออายุแต่ในขนาดที่เล็กลงในหลายประเทศ อาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าหน้าผาทางการคลัง (fiscal cliff) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
.
ดังนั้นเศรษฐกิจไทยแม้หลายภาคส่วนมีการฟื้นตัวหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 แต่การฟื้นตัวมีสัญญาณช้าลงในช่วงหลัง ภาคการท่องเที่ยวเห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯ แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงซบเซาต่อเนื่อง ดังนั้น EIC ได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เหลือเพียง 6.7 ล้านคน และปรับเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นติดลบ 7.8% จากเดิม ติดลบ 7.3%
.
ที่สำคัญหากโควิด-19 ระบาดรอบ 2 จนนำไปสู่การปิดเมืองก็อาจเห็นจีดีพีหดตัว -10 ถึง -11%
.
สำหรับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐมีส่วนสำคัญในการช่วงพยุงเศรษฐกิจ แต่เม็ดเงินช่วยเหลือออกมาต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ โดยเม็ดเงินล่าสุดที่ได้รับอนุมัติภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อยู่ที่ประมาณ 4.75 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า ดังนั้น EIC จึงปรับลดคาดการณ์เม็ดเงินที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้เหลือเพียง 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ 6 แสนล้านบาท
.
ทางด้านนโยบายการเงินคาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี
ส่วนค่าเงินบาทสิ้นปีนี้คาดอยู่ในช่วง 30.5-31.5 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อยจากปัจจุบัน เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ การดำเนินนโยบายการคลังที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นของสหรัฐ อีกทั้ง เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดเกิดใหม่