SCB EIC มองส่งออกไทยปีนี้หดตัว -12.9%

581
0
Share:

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คงคาดการณ์มูลค่าส่งออกปี 2563 ที่ -12.9% จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยล่าสุด ทั้งโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 2.4 ล้านคน และมีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วในหลายประเทศสำคัญทั่วโลก จึงเป็นที่มาของมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลต่อการหยุดชะงัก ของระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศ ดังนั้น เศรษฐกิจโลกในปี 2563 จึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนักต่อการระบาดของโควิด-19
.
ส่วนมูลค่าการส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2563 ขยายตัวที่ 4.2% แต่เมื่อหักทองคำ และการส่งกลับอาวุธซ้อมรบไปยังสหรัฐฯ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนภาวะการค้าที่แท้จริง) จะพลิกกลับเป็นหดตัว -2.5% ทำให้ในไตรมาสแรกของปี 63 การส่งออกขยายตัวที่ 0.9% แต่หากไม่รวมผลของทองคำและการส่งกลับอาวุธ การส่งออกในไตรมาสแรกจะพลิกกลับมาหดตัวที่ -1.3%
.
ทั้งนี้จากรายงานล่าสุดของ IMF WEO รอบเดือนเมษายน IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 จะหดตัวกว่า -3% ซึ่งถือเป็นอัตราหดตัวมากสุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติ Great Depression ในปี 2473-2482 เป็นต้นมา นอกจากนี้ หากพิจารณาข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อด้านคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก (Global PMI: Export orders) พบว่าดัชนีลดลงอย่างรวดเร็ว สะท้อนว่าการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า มีแนวโน้มหดตัวเพิ่มขึ้น
.
นอกจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มหดตัวแล้ว การส่งออกของไทยยังมีโอกาสได้รับผลกระทบจากปัญหา supply chain disruption โดยจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดในหลายประเทศ ทำให้ส่งผลต่อภาคการผลิตและขนส่งสินค้า ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวจึงกระทบต่อการค้าของโลก โดยจะกระทบต่อภาคส่งออกไทยใน 2 ประเด็น ได้แก่
.
1) ไทยส่งออกสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางลดลง เนื่องจากอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของหลายประเทศ โดยมาตรการควบคุมโรคของหลายประเทศมีแนวโน้มสร้างอุปสรรคต่อการผลิตสินค้าในประเทศดังกล่าว ดังนั้น เมื่อเกิดการหยุดชะงักของภาคการผลิตในประเทศต้นทาง ย่อมส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากไทยที่ลดลง
.
2) ไทยมีอุปสรรคในการผลิตสินค้าส่งออก เนื่องจากต้องพึ่งพาสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มหยุดการผลิตบางส่วนจากมาตรการควบคุมโรค จึงทำให้บริษัทไทยที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบขั้นกลางจากประเทศดังกล่าว ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ เนื่องจากขาดวัตถุดิบ
.
ด้านราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันการลดลงของมูลค่าส่งออกในปีนี้ โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก โดยมีราคาต่ำสุดในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ 14.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ราคาน้ำมันดิบ Brent) นับเป็นราคาที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2542 มีสาเหตุหลักจากการลดลงของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกตามภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงความกังวลด้านการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันดิบในช่วงก่อนหน้า
.
ล่าสุดมีข้อตกลงว่าจะมีการลดกำลังการผลิตบางส่วน แต่การลดกำลังการผลิตก็ไม่สามารถชดเชยผลจากการที่อุปสงค์หายไปได้ จึงทำให้คาดว่าราคาน้ำมันดิบโลกจะทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าส่งออกของไทยหลายประเภท อาทิ เม็ดพลาสติก, เคมีภัณฑ์ และสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทแล้ว ยังส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มส่งออกน้ำมัน ที่จะมีรายได้จากน้ำมันลดลง ขณะที่กลุ่มประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมากนัก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง
.