นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JTRO) หรือเจโทร กรุงเทพ กล่าวว่า ธุรกิจร้านซูชิในกรุงเทพยังเติบโตขึ้น แต่ที่ปิดตัวเยอะจะเป็นในต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งเป็นประในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น มีร้านซูชิเปิดใหม่เยอะทำให้มีการแข่งขันสูงขึ้น อีกทั้งลักษณะเฉพาะของร้านซูชิยังใช้ของสด ทำให้ถ้าขายไม่ได้ ก็จะเกิดการสูญเสีย ทำให้การทำธุรกิจร้านซูชิจึงมีข้อจำกัด
เจโทรจัดทำผลสำรวจธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นประจำปี 2023 พบว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 5,751 ร้าน เพิ่มขึ้น 426 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปี 2022 ในขณะที่ 10 ประเทศทั่วโลกที่มีธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นนั้น ปรากฏว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ตามหลังจีนที่อยู่ในอันดับ 1 จำนวน 78,760 ร้าน อันดับ 2 สหรัฐอเมริกาจำนวน 26,040 ร้าน อันดับ 3 เกาหลีใต้จำนวน 18,210 ร้าน อันดับ 4 ไต้หวันจำนวน 7,440 ร้าน และอันดับ 5 เม็กซิโกจำนวน 7,120 ร้าน
สำหรับข้อมูลในรายละเอียดของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ยังพบว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพเปิดเพิ่มขึ้น 5 เท่า สอดรับกับใน 5 จังหวัดปริมณฑลมีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า เช่นเดียวกันกับต่างจังหวัดของไทยมีเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า ดังนั้นเมื่อรวมทั้งประเทศไทยมีสัดส่วนร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.9 เท่า ทั้งหมดเป็นการเปรียบเทียบในข่วงระหว่างปี 2561 ถึงปี 2566 หรือ 2017 ถึง 2023 ผ่านมา
ด้านประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นที่เปิดเพิ่มขึ้นในประเทศไทย พบว่ามี 5 ประเภทได้แก่ ร้านราเมง ร้านสุกี้ยากี้ ร้านชาบู ร้านอิซากายะ และร้านเนื้อย่าง ที่รู้จักกันดีว่ายากินิกุ อย่างไรก็ตาม เจโทรเปิดเผยต่อไปว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นประเภทซูชิ ซึ่งเป็นประเภทของร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีจำนวนร้านมากที่สุด กลับมีจำนวนร้านที่ปิดตัวลดลงมากกว่าจำนวนร้านที่เพิ่มขึ้น นั่นคือ สุทธิปิดลดลง 4.1% สาเหตุจากการแข่งขันทั้งจากร้านอาหารญี่ปุ่นด้วยกัน และร้านอาหารประเภทอื่นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ความท้าทายของต้นทุนวัตถุดิบอาหาร และค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นในไทย
เจโทร เปิดเผยว่า ผลสำรวจในปี 2566 เมื่อแบ่งระดับราคาอาหารญี่ปุ่นเฉลี่ยต่อหัวผู้บริโภค จะพบว่า ช่วงราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัวระหว่าง 101 – 250 บาท มีจำนวนมากที่สุดมากถึง 2,040 ร้าน อันดับ 2 ช่วงราคา 251 – 500 บาท มีจำนวน 1,333 ร้าน อันดับ 3 ราคากว่า 100 บาท มีจำนวน 691 ร้าน และราคาระหว่าง 501 – 1,000 บาทมีจำนวน 690 ร้าน สอดคล้องกับจำนวนร้านใกล้เคียงกัน โดยเมื่อแยกตามพื้นที่ ระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัวระหว่าง 101 – 250 บาทมีจำนวนมากที่สุด อันดับ 2 คือ ช่วงราคา 251 – 500 บาทมีทั้งในกรุงเทพฯ 5 จังหวัดปริมณฑลและต่างจังหวัด อันดับ 3 เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ ช่วงราคา 501 – 1,000 บาท ส่วนพื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัดจะเป็นราคาต่ำกว่า 100 บาท
ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JTRO) หรือเจโทร กรุงเทพ กล่าวว่า กล่าวว่า ไม่มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจะอิ่มตัวเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่ายังมีช่องว่างที่ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นจะเติบโตได้ในไทย หากมองในแง่จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจะมากสุดเป็นอันดับ 6 ของโลกก็จริง แต่ถ้ามองจากในแง่จำนวนเฉลี่ยต่อจำนวนประชากร พบว่า ไทยมาเป็นอันดับ 4 ของโลก นั่นคือยังมีช่องว่างให้เติบโต
ถึงแม้จะมีอุปสรรคบางประการ เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค การออกแบบเมนูที่เหมาะกับคนไทย แต่อาหารญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมจากคนไทย เชื่อว่าแนวโน้มในอนาคตจะมีความหลากหลายมากขึ้น และจะแพร่หลายมากขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยว และจังหวัดที่มีประชากรจำนวนมาก เจโทรมองว่าร้านอาหารญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องนำเสนอรสชาติหรือเมนูต้นฉบับเสมอไป แต่เราอยากเห็นการนำไปปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคไทย