ส่องโผ ครม.เศรษฐา “ดรีมทีมเศรษฐกิจในฝัน” กระทรวงเกรดเอใครได้เก้าอี้ เงินดิจิทัลวอลเล็ท 10,000 บาท นโยบายกระตุ้นใช้จ่ายเร่งด่วน ต้องรออีกนานแค่ไหน ?

1273
0
Share:

ส่องโผ ครม. เศรษฐา “ดรีม ทีมเศรษฐกิจ ในฝัน” กระทรวงเกรดเอใครได้เก้าอี้ เงินดิจิทัลวอลเล็ท 10,000 บาท นโยบายกระตุ้นใช้จ่ายเร่งด่วน ต้องรออีกนานแค่ไหน ?

ยืดเยื้อกันอยู่พักใหญ่กับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย จนในที่สุดหวยก็มาออกที่ “นายเศรษฐา ทวีสิน” จากพรรคเพื่อไทย หลังจากกินเวลาไปกว่า 100 วัน การโหวตเลือกนายกฯ สมาชิกรัฐสภาก็ได้ลงคะแนนเลือกให้ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และเมื่อวันที่ 23 ส.ค. เวลา 18.00 น. ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “นายเศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว

และด้วยการจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยการนำของพรรคเพื่อไทยที่สามารถรวบรวมมาได้จาก 11 พรรคการเมืองนั้น เป็นที่จับตาของหลายฝ่าย โดยเฉพาะ ครม.เศรษฐกิจ ที่ตั้งความหวังว่าจะได้เห็น “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ที่เปี่ยมไปด้วยฝีมือ และเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ประเทศไทยได้ รวมทั้งพร้อมจะเข้ามาแก้ปัญหาและขับเคลื่อนนโยบายประเทศ รื้อฟื้นเศรษฐกิจที่ติดหล่มกันอยู่ตอนนี้ให้เดินหน้าฉิวไปได้เร็วที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน 3 สถาบัน ที่พูดอยู่เสมอตั้งแต่การเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.เสร็จสิ้น โดยอยากเห็น “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” และ ครม.ที่ “รูปหล่อ” หรือจะบอกว่าเมื่อตั้งคนเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ต้องสร้างความเชื่อมั่นได้ เห็นหน้าแล้วภาคเอกชนต้องเชื่อมือว่าทำงานเป็น ทำงานได้แบบมืออาชีพ มีความสามารถนำพาประเทศเดินหน้า

แต่ทว่าการจัดตั้ง “ดรีมทีมเศรษฐกิจในฝัน” ภายใต้รัฐบาลผสมนั้น ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ใครๆ ก็ว่ายากที่การทำงานจะเข้าขา รู้อกรู้ใจกันมากพอนั้น หาได้ยาก เพราะเมื่อมีการรวมเสียงจากหลายพรรคการเมืองเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล ก็จะมีการต่อรองจำนวนเก้าอี้ และตำแหน่งรัฐมนตรีที่พรรคจะได้ หรือภาษาการเมืองเรียกว่าแบ่งโควต้ากระทรวง ซึ่งมีมาแต่ไหนแต่ไรในการเมืองไทยแล้ว ฟากฝั่งเอกชนจึงมีการออกมาพูดอยู่บ่อยๆ ถึงความคาดหวังของการมาของดรีมทีม ที่อีกนัยคืออาจจะต้องการสื่อถึงรัฐบาลว่าอยากให้กระทรวงเศรษฐกิจ หรือกระทรวงเกรดเอ เป็นของฝั่งพรรคนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารเองทั้งหมดเพื่อที่จะได้ง่ายต่อการทำงาน ก็อาจจะเป็นได้

อย่างไรก็ตาม โผ ครม. ที่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เป็นกระแสอยู่มากพอสมควร และเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ก็จะเริ่มมีความใกล้เคียงกับตัว สส. ของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ไม่น้อย นั่นก็คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คาดว่าจะควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามที่พรรคได้หาเสียงไว้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาต่างมีข่าวแพร่สะพัดว่าเพื่อไทยอาจพับแผนนโยบายนี้ก็เป็นได้ ด้วยเหตุจากข้อกังขาเรื่องของกฎหมาย และงบประมาณที่จะนำมาใช้ในเงินก้อนนี้ แต่ล่าสุดได้รับการยืนยันจาก นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยแล้วว่าจะยังคงเดินหน้าต่อแน่นอน แต่อาจต้องใช้เวลาสักระยะ ขั้นต่ำคือ 6 เดือน เพราะต้องจัดทำระบบบล็อกเชน (blockchain) ให้สามารถกำหนดเงื่อนไขการใช้และพื้นที่การใช้จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะต้องหารือกับส่วนราชการต่างๆ ซึ่งได้เน้นย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไปสร้างสกุลเงินใหม่ เพียงแต่เป็นการหาวิธีกระจายงบประมาณส่วนหนึ่งจากงบที่มีอยู่ 3.3 ล้านล้านบาท มาจัดสรรมาเพื่อรองรับนโยบายเงินดิจิทัลให้พอจ่าย และเป็นหลักประกันการใช้จ่าย ส่วนเงื่อนไขของผู้มีสิทธิรับเงินยังคงเดิม

ส่วนข้อสงสัยที่ว่าจะเอาเงินงบประมาณมาจากไหนมาจ่ายนั้น หากอ้างอิงจากเอกสาร ระบุว่า กำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องให้จ่ายเงิน ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่พรรคการเมืองต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีที่มาดังนี้ ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 : 260,000 ล้านบาท ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 100,000 ล้านบาท การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น คาดว่าจะเริ่มโครงการได้วันที่ 1 ม.ค. 2567

ความชัดเจนเรื่องของนโยบายอาจจะต้องรอให้เสร็จสิ้นขั้นตอนการจัดตั้ง ครม. หรือแบ่งเค้กกระทรวงกันให้แล้วเสร็จก่อน

ขณะที่โผ ครม. ที่เหลือก็ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข ที่หากตามกระแสในโซเชียลมีเดียจะพบว่าหลายคนอาจไม่เห็นด้วย ถ้าหากได้ สส. จากภูมิใจไทยกลับมาดูแลกระทรวงนี้อีกรอบ ดังนั้นโผจึงตกไปอยู่ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน และหัวหน้าพรรค ที่เดิมมีรายชื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่คาดว่าเมื่อลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็จะมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะนี้มีความเจนว่าเป็นชื่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สส.บัญชีรายชื่อ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ วางตัวไว้เป็นนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน สส.บัญชีรายชื่อ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ชัดเจนว่าได้เป็นรัฐมนตรี แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นกระทรวงใด

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับการยืนยันว่าได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีแน่นอน แต่เป็นกระทรวงเล็กก่อนเนื่องจากเป็นรัฐมนตรีสมัยแรก แต่ยังไม่ลงรายละเอียดว่าเป็นกระทรวงใด โดยคาดว่าจะเป็นกระทรวงวัฒนธรรม หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ ถูกวางให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะพรรคต้องการทำหน้าตาของ ครม. ให้เป็นสากล ที่มีพลเรือนนั่งเก้าอี้ดังกล่าว โดยขณะนี้รายชื่อของนายสุทิน ถูกนำไปหารือกับกองทัพว่าจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่

สำหรับโควต้าของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จากเดิมที่จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งวางตัวให้ ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า สส.พะเยา เป็นรัฐมนตรีนั้น แต่จากกรณีที่ สว. สาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไม่ยอมโหวตให้นายเศรษฐาเหมือนที่ตกลงกันไว้ จึงทำให้พรรคเพื่อไทยต้องพิจารณาว่าจะให้ตำแหน่งดังกล่าวกับพรรคพลังประชารัฐเหมือนเดิมหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งก็มีข่าวว่าส้มหล่นอาจจะตกไปอยู่ที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เพื่อดึงกระทรวงมหาดไทยกลับมา ส่วนอีกตำแหน่งที่พรรคพลังประชารัฐจะได้รับคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม คาดกันว่าพรรคภูมิใจไทยมีแนวโน้มที่จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ต้องดูการเจรจาว่า ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ เกี่ยวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าจะจบลงอย่างไร นอกจากนี้ยังมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่อาจจะตกเป็นของภูมิใจไทยด้วย ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีชื่อของนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค เป็นผู้รับตำแหน่งอยู่ด้วย

ในท้ายที่สุดแล้ว ความคาดหวังจะมี “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ก็คงต้องขึ้นอยู่กับ “พรรคเพื่อไทย” ที่เป็นแกนนำในการพิจารณาตัดสินใจมอบหมายกระทรวง หรือแม้แต่ข้อตกลงของพรรคร่วมใดๆ ก็ตาม แต่หากเป็นคนที่ประชาชนและภาคธุรกิจเชื่อมั่น สามารถทำงานได้จริง ไม่ว่าจะอยู่คนละพรรคคนละสายก็น่าจะสานฝัน “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ต่างขั้วหรือรัฐบาลผสมได้ โดยไม่ค้านสายตาเอกชน หรือนักลงทุน บรรยากาศทางการเมืองก็น่าจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งการเดินหน้านโยบายเร่งด่วนต่างๆ ก็คงจะไม่สะดุด เดินหน้าได้เร็ว “สมราคาคุย” ของพรรคเพื่อไทย ที่ยืนยันว่าต้องการตั้งรัฐบาลให้เร็ว เพื่อเร่งเข้ามาแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชน พวกเขาจะทำได้จริง และดีแค่ไหน ประชาชนอย่างเราๆ เองก็จะต้องช่วยกันจับผิด เอ้ย! จับตากันต่อไป…

BTimes