เปิดประวัติ “เศรษฐา ทวีสิน” ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ของไทย หัวเรือแจวเศรษฐกิจไทยฟื้น

1184
0
Share:

เปิดประวัติ “เศรษฐา ทวีสิน” ว่าที่นายก คนที่ 30 ของไทย หัวเรือแจวเศรษฐกิจไทยฟื้น

“นายเศรษฐา ทวีสิน” เตรียมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หลังจากที่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ที่ประชุมสภามีมติโหวตนายกรอบ 3 วันนี้ เห็นชอบถึง 375 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภา โดยตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องได้คะแนน “เห็นชอบ” เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 375 จาก 747 เสียง (สส. 498 คน และ สว. 249 คน) ทำให้คะแนนเสียงเห็นชอบดังกล่าว จะทำให้ นายเศรษฐา จะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย

แน่นอนว่าจากการปลดล็อกตำแหน่งนายกฯในสายตาคนไทยแล้ว นายกฯจากเพื่อไทย ย่อมเป็นที่จับตาของหลายฝ่าย ที่คาดหวังจากความมีประสบการณ์ มีความสามารถด้านแก้เศรษฐกิจ และประสบการด้านการทำงานการเมือง การเร่งเดินนโยบายจึงเป็นสิ่งที่เฝ้ารอ โดยเฉพาะการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นโยบายกระตุ้นกำลังซื้อ ดิจิทัลวอลเล็ท 10,000 บาทที่ได้หาเสียงไว้ รวมไปถึงแก้ราคาพลังงาน ค่าไฟ แก้หนี้ที่เป็นฐานของการแก้ปากท้องของประชาชน ดังนั้น BTimes จะพาไปทำความรู้จักว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยให้มากขึ้นกันสักหน่อย

ประวัติ “เศรษฐา ทวีสิน”
“เศรษฐา ทวีสิน” มีชื่อเล่นว่า “นิด” เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2506 ปัจจุบันอายุ 60 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการเงิน จาก Claremont Graduate School สหรัฐอเมริกา เขาเริ่มการทำงานในปี 2529 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท P&G ประเทศไทย (จำกัด) ก่อนมาดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

ต้นเดือนเมษายน 2566 เขาได้ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งของแสนสิริ พร้อมโอนหุ้นทั้งหมดของ บมจ.แสนสิริ (SIRI) จำนวนกว่า 661,002,734 หุ้น ให้แก่ นางสาวชนัญดา ทวีสิน ผู้เป็นบุตรสาว โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจเตรียมพร้อมทำงานการเมืองในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

หลังจากวางมือในบทบาทนักธุรกิจแล้ว การเริ่มต้นสวมหมวกนักการเมืองของ เศรษฐา ทวีสิน ก็เดินหน้าขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จากผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้คะแนนทั้งหมด 141 เสียง เป็นอันดับ 2 ของผลการเลือกตั้ง และได้เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนายเศรษฐา นอกจากเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยแล้ว ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยด้วย

นายเศรษฐาได้แสดงวิสัยทัศน์ ระหว่างเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อไทย ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก เน้นย้ำเรื่องปากท้องของประชาชน ความเหลื่อมล้ำของสังคม และการให้ความสำคัญกับความเสมอภาค ความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ ซึ่งหมุดหมาย ภารกิจสำคัญหากได้เป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอุปสรรคให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างยากลำบาก

ก่อนหน้านั้น พรรคเพื่อไทยได้เป็นพรรคอันดับสองรองจากพรรคก้าวไกล สิทธิในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจึงอยู่กับพรรคก้าวไกล อย่างไรก็ตามในการโหวตนายกรัฐมนตรีที่เป็นแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ได้คะแนนเสียง 324 เสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ขาดอีก 52 เสียง ซึ่งไม่เป็นผลสำเร็จ และไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. อย่างเพียงพอ พรรคก้าวไกลจึงมอบสิทธิ์ให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีมติเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งต่อมาการโหวตนายกฯ รอบที่ 3 วันนี้ รัฐสภามีมติเห็นชอบ 375 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภา ในฐานะที่เขาเป็นแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย จึงเตรียมตัวเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยต่อไป

ครอบครัวของเศรษฐา
ด้าน’ครอบครัวของ “เศรษฐา ทวีสิน”เป็นบุตรคนเดียวของ ร้อยเอก อำนวย ทวีสิน กับ ชดช้อย ทวีสิน (สกุลเดิม จูตระกูล) บิดาของเศรษฐาเสียชีวิตตั้งแต่เศรษฐาอายุเพียง 3 ปี เศรษฐานับว่าเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะ ‘ตระกูลทวีสิน’ เป็นหนึ่งในตระกูลที่มีความเกี่ยวข้องกับสายเครือญาติ 5 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย อันได้แก่ ตระกูลยิบอินซอย, จักกะพาก, จูตระกูล , ล่ำซำ และ บูรณศิริ

ในปี 2532 เศรษฐาสมรสกับ พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญความงามด้านผิวพรรณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีบุตรธิดา 3 คน ได้แก่ นายณณภัทร ทวีสิน (น้อบ), นายวรัตม์ ทวีสิน (แน้บ), นางสาวชนัญดา ทวีสิน (นุ้บ)

ทั้งนี้ นายเศรษฐา เคยกล่าวว่า เขาไม่ได้มีความฝันที่จะก้าวเข้าสู่การเมืองมาก่อน แต่สิ่งที่เริ่มจุดประกายให้เขาสนใจการเมืองมากขึ้นคือนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเห็นว่าการยึดอำนาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและรับไม่ได้ บวกกับปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วง 8-9 ปีหลังมานี้ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สะท้อนให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เมื่อเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียม และมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกได้ ตนจึงตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย เพราะเชื่อว่าเพื่อไทยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง

‘ผมไม่ได้อยากเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะอยากมีตำแหน่งว่าเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง’ นายเศรษฐาได้เคยกล่าวไว้

อย่างไรก็ตาม ตามที่บอกไปข้างต้น เมื่อประกาศลงเล่นการเมืองกับพรรคเพื่อไทย เศรษฐาได้โอนหุ้นที่ถืออยู่ใน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ให้ นุ้บ ชนัญดา จำนวนกว่า 661 ล้านหุ้น เมื่อคำนวณมูลค่าหุ้นแสนสิริ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ เวลา 14.28 น. ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ที่ราคาหุ้นละ 2 บาท จึงคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,322 ล้านบาท

BTimes