คลังจ่อรื้อเกณฑ์กลุ่มผู้มีสิทธิ์รับเงินดิจิทัล กับคำนิยาม “คนรวย” ต้องถูกปัดตกชวดเงินหมื่น ว้าวุ่นเลยทีนี้.. ต้องมีเงินแค่ไหนถึงเรียกว่า “รวย”

1154
0
Share:

คลังจ่อรื้อเกณฑ์กลุ่มผู้มีสิทธิ์รับ เงินดิจิทัล กับคำนิยาม “คนรวย” ต้องถูกปัดตกชวดเงินหมื่น ว้าวุ่นเลยทีนี้.. ต้องมีเงินแค่ไหนถึงเรียกว่า “รวย”

คลังจ่อรื้อเกณฑ์กลุ่มผู้มีสิทธิ์รับเงินดิจิทัล กับคำนิยาม “คนรวย” ต้องถูกปัดตกชวดเงินหมื่น ว้าวุ่นเลยทีนี้.. ต้องมีเงินแค่ไหนถึงเรียกว่า “รวย” มนุษย์เงินเดือนส่อแววอดด้วย เช็กยอดบัญชีเงินฝากด่วน เท่าไรถึงจะเข้าเกณฑ์รับสิทธิ์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และได้รับความสนใจกันอีกรอบก็คงหนีไม่พ้น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หรือที่รัฐบาลอธิบายวิธีการคือการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล เพราะล่าสุดนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าโครงการว่าจะไม่ได้มีการแจกเงินดิจิทัลให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปทุกคนเหมือนแรกเริ่มเดิมทีที่ตั้งใจและหาเสียงไว้ โดยอาจจะมีการปรับเงื่อนไขเลือกแจกเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มผู้ยากไร้เท่านั้น

ซึ่งในการให้สัมภาษณ์ของนายจุลพันธ์ ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา บอกว่า “การกำหนดกลุ่มเป้าหมายจะตัด “คนรวย” ออกจากเดิม 56 ล้านคน แต่จะกำหนดเกณฑ์ “ความรวย” ระดับใดจะเสนอเป็นทางเลือกให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ” และยังบอกด้วยว่า “รัฐบาลมีการพูดเสมอว่าหากมีความจำเป็นต้องตัดกลุ่มคนรวยออกจะหาตัวเลขที่ใช้แบ่งกลุ่มได้เหมาะสมที่สุด หากจะไปดูทรัพย์สินอย่างอื่นในการแบ่งเกณฑ์ความรวย เช่น ที่ดิน ก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ หรือหากเป็นทรัพย์สินอื่นๆ หุ้น ส่วนนี้ก็มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงเลือกใช้เกณฑ์รายได้ที่มาจากการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากร และเงินฝากในบัญชี ยังมีกลไกในการตรวจสอบได้”

ขณะที่ทางด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการด้วยว่า “จะมีการปรับเงื่อนไขต่างๆ ตามที่ทุกภาคส่วนได้เสนอเข้ามา รวมถึงประเด็นที่ว่ากลุ่ม ‘คนรวย’ ไม่ควรได้รับสิทธิเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งก็ได้มีการปรับและกำลังหาคำจำกัดความที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” ยิ่งทำให้เกิดเป็นกระแสดรามา ของคำนิยาม “คนรวย” ขึ้นมาอย่างรุนแรง

โดยคณะอนุกรรมการเงินดิจิทัลฯ เองก็ได้สรุป 3 เกณฑ์ใหม่ที่เตรียมจะเสนอบอร์ดชุดใหญ่พิจารณาผู้ตัดสินใจสัปดาห์หน้า เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่จะมีสิทธิ์ได้รับเงินดิจทัล ได้แก่
1. ให้สิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 150,000 ล้านบาท
2. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท
3. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท

แน่นอนว่าหลังจากข้อมูลดังกล่าวนี้ออกไป ยิ่งเกิดเป็นกระแสวิจารณ์หนักขึ้น มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องนิยามความรวย มีการตั้งคำถามว่ามีเงินแค่ไหนถึงเรียกว่า “รวย” และร้อนแรงขึงขั้นติดเทรนด์คำค้นหาบน Google โดยข้อมูลจาก Google Trends พบว่า คนไทยค้นหา “Digital Wallet” สูงสุดในเวลาประมาณ 21.00 น. ของเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังทราบข่าวเกณฑ์ใหม่ในการแจกเงินดิจิทัลไม่กี่ชั่วโมง และสูงสุดในรอบสัปดาห์ ซึ่งรวมถึงการค้นหาด้วยคำว่า “ดิจิทัลวอลเล็ต” “แจกเงินดิจิทัล” ด้วย

ส่วนกลุ่มยากไร้ หรือกลุ่มยากจนเองก็ยังมีคำถามว่าต้องมีเงินน้อย หรือรายได้น้อยเท่าไรถึงจะเรียกว่าผู้ยากไร้ ซึ่งรัฐบาลการันตีแล้วว่าถึงอย่างไรกลุ่มนี้ก็จะได้รับเงินแน่นอน

สำหรับเกณฑ์ของรายได้ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 ได้กำหนดฐานการคิดจากรายได้ต่อเดือนไว้ว่า จะต้องมีรายได้ต่ำกว่า 2,802 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 33,624 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นเกณฑ์เดียวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย ซึ่งมีกลุ่มผู้ยากไร้ที่เข้าเกณฑ์อยู่ประมาณ 15-16 ล้านคน ตามเกณฑ์ใหม่ข้อ 1 ที่รัฐบาลกำหนด

และเกณฑ์แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะพิจารณาจากบัญชีเงินฝากที่เกิน 100,000 บาท และ 500,000 บาท อาจถูกตัดสิทธิ์นั้น ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2566 คนไทยส่วนใหญ่ถึง 104 ล้านบัญชี มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท มียอดรวมเงินฝากแค่ 437,428 ล้านบาท ขณะที่คนไทยที่มีเงินฝาก 50,000–100,000 บาท มีจำนวนทั้งสิ้น 3,600,000 บัญชี ขณะที่คนที่มีเงินฝากถึง 1,000,000 บาท มีจำนวน 1,200,000 บัญชี และกลุ่มมหาเศรษฐี ที่มีเงินฝาก ตั้งแต่ 500 ล้านขึ้นไป มีเพียง 964 บัญชีเท่านั้น “แต่มียอดรวมเงินฝากสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท มากกว่าบัญชีเงินฝากส่วนใหญ่ของคนไทยถึง 5 เท่า”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้ว่าโครงการหรือหลักเกณฑ์จะยังไม่ชัด แต่ก็มีกระแสต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับการทำนโยบายประชานิยมเรื่องนี้ โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ที่ได้ร่วมลงชื่อ 99 คน ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท” เพราะเป็นนโยบาย “ได้ไม่คุ้มเสีย” ถ้าจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีก็ยกตัวอย่างเช่น ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ทีดีอาร์ไอ เป็นต้น ซึ่งต่างก็ให้เหตุผลว่า ไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นด้วยตัวของมันเอง แถมรัฐเองก็มีเงินงบประมาณที่จำกัด การจัดทำระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลขึ้นมาใหม่ก็ใช้เงินมาก สิ้นเปลืองงบประมาณ และที่สำคัญหากต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาอีก ก็จะยิ่งถอยหลังไปสู่ปัญหาหนี้ ที่ไทยยังติดกับดักและเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้กันอยู่

ถึงกระนั้นก็ยังมีฝั่งกองเชียร์ ทั้งด้านฝ่ายวิชาการ นักธุรกิจ เอกชน ที่ยังไง๊ยังไงก็ส่งเสริมให้แจก เพราะเห็นว่าช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนได้เร็ว ติดจรวดมากกว่ารอให้เศรษฐกิจกำลังซื้อค่อยๆ ฟื้น อย่างเช่นคุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่มองว่าการที่รัฐปรับเงื่อนไขกลุ่มรับสิทธิเงินดิจิทัล เป็นสิ่งที่หอการค้าไทยได้เคยนำเสนอข้อคิดเห็นไปยังรัฐบาลว่าควรพิจารณาแจกเงินกับกลุ่มที่มีความจำเป็น และหากรัฐบาลพิจารณาแนวทางการแจกที่โฟกัสมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะเกิดการใช้เม็ดเงินอย่างคุ้มค่า ส่วนประเด็นที่อาจจะมีการเลื่อนการแจกเงินออกไปจากเดิม หากอยู่ในช่วงเดือนเมษายนซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ ก็ยังถือว่าอยู่ใน Time line ที่มุ่งหวังให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงต้นปี

เอาล่ะ… ต่อจากนี้ก็คงต้องมาลุ้นกันว่าเกณฑ์เงินดิจิทัล ที่คณะกรรมกาารชุดใหญ่จะเคาะออกมานั้น กลุ่มไหนที่จะได้รับอย่างแน่นอน ส่วนมนุษย์เงินเดือนหรือกลุ่มคนรวย ตามนิยามที่รัฐต้องการจะจำกัดความให้ชัดนั้น จะออกมาเป็นอย่างไร ก็ขอให้อดใจรอกันก่อน เหมือนอย่างที่ท่าน “นายกฯ นิด” ท่านว่า “ขอให้รออีกนิด” นโยบายนี้เดินหน้าต่อแน่นอน ทุกอย่างชัดเจนเมื่อไร ต้องประกาศให้พี่น้องประชาชนคนไทยรับทราบโดยทั่วกันทันที…