ค่าไฟงวดใหม่ รายจ่ายอ่อนไหวของ 5 ธุรกิจไทย อาจถึงขั้นกุมขมับ ถ้าแพงฉ่ำจนเกินรับไหว ลุ้นรัฐลด–ตรึงถึงที่สุดได้แค่ไหน?

1363
0
Share:

ค่าไฟ งวดใหม่ รายจ่ายอ่อนไหวของ 5 ธุรกิจ ไทย อาจถึงขั้นกุมขมับ ถ้าแพงฉ่ำจนเกินรับไหว ลุ้นรัฐลด–ตรึงถึงที่สุดได้แค่ไหน?

อัตราค่าไฟฟ้างวดใหม่ มกราคม – เมษายน 2567 ที่ยังคงถกเถียง และรัฐบาลก็ยังไม่ฟันธงว่าจะลดหรือจะตรึงไว้ที่เท่าไร อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่ามีผลกระทบกับทั้งภาคประชาชนและบรรดาภาคธุรกิจ

โดยเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศค่าไฟงวดใหม่ว่าจะอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย แต่หลังจากนั้นทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่างก็ยกธงแดง บอกไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้น “ค่าไฟ” ไปถึงอัตราดังกล่าว

ทางด้านรัฐมนตรีพลังงานยืนยันหนักแน่นว่าจะต้องลดค่าไฟลงมาให้ต่ำกว่า 4.68 บาท อย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้กำลังพยายามหาแนวทางทำให้ค่าไฟลดลงมาอยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย และถ้าเป็นไปได้จะตรึงค่าไฟไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง โดยอาศัยของบอุดหนุนจาก ครม. เพิ่ม ขณะที่นายกฯ เศรษฐาต้องการให้ค่าไฟลดลงมาอยู่ที่ 4.10 บาทต่อหน่วยมากกว่า โดยต่างก็ต้องการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

แต่ทว่า ถ้าหากจะเคาะโป๊กทีเดียวให้ลดค่าไฟลงมาที่ 4.20 บาทในทันที ก็อาจจะยังยาก เพราะตอนนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ. ยังคงรับภาระค่า Ft ค้างรับ (ตามนโยบายภาครัฐ และประกาศของ กกพ.) จำนวนประมาณ 95,777 ล้านบาท และมีเงินกู้เสริมสภาคล่องคงเหลือที่จะต้องชำระอีก 82,000 ล้านบาท

โดยถ้าตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย ในงวดมกราคม – เมษายน 2567 จะทำให้ กฟผ. รับภาระค่า Ft ค้างรับสะสม งวดมกราคม – เมษายน 2567 เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้ กฟผ. มีค่า Ft ค้างรับทั้งปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 137,000 ล้านบาท และนำไปสู่ปัญหาขาดสภาพคล่องในช่วงต้นปี 2567

หากจะมองหาแนวทางสำรองถ้าต้องการจะแบ่งเบาภาระปัญหาสภาพคล่องของ กฟผ. รัฐบาลต้องมีนโยบายเพิ่มเติม อย่างการให้ภาครัฐนำเงินงบประมาณ หรืองบกลาง มาช่วยชดเชยราคาค่าไฟส่วนลดตามนโยบายของภาครัฐ ในเรื่องค่าซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน หากจะช่วย กฟผ. ได้ ควรให้โรงไฟฟ้าเอกชนขยายระยะเวลาในการชำระค่าไฟฟ้าออกไป โดยไม่มีดอกเบี้ยหรือค่าปรับ เพื่อประชาชน หรืออาจจะต้องทำให้ค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติลดลง โดยให้ ปตท. ร่วมรับภาระค่าเชื้อเพลิงด้วย แต่ในท้ายที่สุดประชาชนก็จะต้องรับภาระจ่ายคืนในภายหลัง แต่กะเป็นแนวทางที่เพิ่มภาระให้กับประชาชนในอนาคต

นอกจากนี้ในส่วนของภาคธุรกิจที่หากขึ้นค่าไฟมีธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบไปด้วยถึง 5 ธุรกิจ อีกทั้งจะส่งผลกับอัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้น ต้นทุนผู้ประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดอยู่แล้ว

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) บอกว่าจากผลวิเคราะห์ “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปและต้นทุนในระบบเศรษฐกิจ” นั้นพบว่า หากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย เท่ากันทั้งครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ค่าไฟจะเพิ่มขึ้นประมาณ 17.29% จากระดับปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ค่าไฟเป็นต้นทุนของภาคการผลิตและบริการทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีสัดส่วน 2.51% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด โดยสาขาการผลิตที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นต้นทุนสูง ได้แก่ การผลิตน้ำแข็ง 29.88% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด โรงแรมและที่พักอื่น 17.12%

เช่นเดียวกับสถานที่เก็บสินค้าและการเก็บสินค้า 16.90% การประปา 14.30% การผลิตซีเมนต์ 12.13% การปั่นด้าย การหีบฝ้าย และเส้นใยประดิษฐ์ 12.11% ตามลำดับ ขณะที่ในมิติของสินค้าที่ครัวเรือนบริโภค ค่ากระแสไฟฟ้ามีสัดส่วนถึง 3.90% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน

ส่วนในภาคการผลิตและบริการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.65% และภาคครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 0.66% ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมทันที 0.66% และมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกถึง 1.62% หากมีการส่งผ่านต้นทุนการผลิตและบริการไปยังสินค้าขั้นสุดท้ายในระยะต่อไป

ในภาคสินค้าและบริการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดมี 5 อันดับ คือ น้ำแข็ง ค่าห้องพักโรงแรม น้ำประปา เสื้อผ้า และผ้าอ้อมเด็ก และยังมีความเสี่ยงทำให้ค่าเช่าบ้านและอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นผลจากค่าเช่าพื้นที่หรือค่าเช่าตลาดที่เพิ่มขึ้น

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ในขั้นสุดท้ายของวงจรที่จะต้องรับผลกระทบที่สุดก็คือ ประชาชน ผู้บริโภค ที่อยู่ในช่วงปลายน้ำนั่นเอง

ฟากฝั่งเอกชน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ยังคงต้องการให้รัฐบาลคงอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนทุกประเภทในระดับ 3.99 บาทต่อหน่วยตามเดิม ไม่ควรปรับขึ้นเป็น 4.68 บาท หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้า เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มีอัตราที่ต่ำกว่า และหากในงวดใหม่ที่ กกพ. ระบุจะต้องปรับขึ้นไปเฉลี่ยอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจการลงทุนจากต่างชาติได้ขณะที่รัฐบาลก็กำลังเน้นการดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“เมื่อมองเศรษฐกิจในประเทศ ประชาชนก็กำลังประสบกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะยิ่งซ้ำเติมค่าครองชีพประชาชน จึงไม่เป็นผลดีต่อกำลังซื้อที่ขณะนี้ก็อ่อนแออยู่แล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ก็ต้องผลักดันให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นซึ่งก็จะย้อนไปกระทบกับประชาชนผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวม”

ในท้ายที่สุดแล้ว ค่าไฟที่มีโครงสร้างอีรุงตุงนังนี้ภาครัฐจะต้องเข้ามากำหนดนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน ตามที่ท่าน “พีรพันธุ์” รัฐมนตรีพลังงานย้ำหนักหนาว่าจะต้องแก้ที่โครงสร้าง ซึ่งก็เชื่อว่าประชาชนหายคนก็รออยู่ว่าจะแก้ได้เมื่อไร แก้ได้หรือยังซะมากกว่า เพราะการตรึงราคาค่าไฟฟ้าตอนนี้ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว แต่เป็นเพียงการชะลอการชำระค่าไฟฟ้าของประชาชนออกไป ท้ายที่สุดประชาชนยังต้องจ่ายคืนค่าไฟฟ้าส่วนนี้ในภายหลังอยู่ดี เปรียบให้เห็นภาพก็คงจะเป็นชาวบ้านตาดำๆ ที่รอให้น้ำหายขุ่นอยู่ท้ายลำธาร แต่ต้นน้ำดันมีเศรษฐีตักน้ำตัดหน้ากวนจนน้ำขุ่นเหลือเกิน จนไหลมาท้ายลำธาร แต่ชาวบ้านยังต้องจำใจรอต่อไป

ไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคหลักของประเทศ ถ้าหากแก้ได้จริง นอกจากประชาชนจะได้ประโยชน์แล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และเพิ่มเครดิตให้กับประเทศได้ด้วย ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าก็ต้องรอลุ้นกันว่า ครม. จะเคาะลดค่าไฟลงได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะตรึงต่อไปตามที่กระทรวงพลังงานให้คำมั่นไว้ ก็คงต้องติดตามตอนต่อไปหนาออเจ้า…

BTimes