3 ปีที่รอคอยเงินหมุนตรุษจีน คนกรุงยันทั่วประเทศใช้จ่ายจริง?

364
0
Share:

3 ปีที่รอคอยเงินหมุน ตรุษจีน คนกรุงยันทั่วประเทศใช้จ่ายจริง?

เทศกาลตรุษจีนกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังไม่ได้ฉลองกันมา 3 ปี โดยเฉพาะถนนเยาวราชที่มีประชาชนเดินทางไปจับจ่ายกันอย่างคับคั่ง ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองคนกรุงใช้เงินตรุษจีนปีนี้ เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนหน้า ขณะที่หอการค้าไทยมองเงินสะพัดทั่วไทยกว่า 45,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% ทำสถิติขยายตัวในรอบ 3 ปี เลยทีเดียว

หากย้อนกลับไปดูตัวเลขการจับจ่ายในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า ในปี 2562 นั้นเป็นปีสุดท้ายที่มีเงินสะพัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นบวก โดยมีเงินสะพัดรวมทั่วประเทศที่ 58,398.21 ล้านบาท ก่อนที่ปี 63 จะเริ่มติดลบ -1.53% เหลือ 57,506.57 ล้านบาท และติดลบอย่างต่อเนื่องในปี 64 มากถึง -21.85% เหลือ 44,939.66 ล้านบาท ส่งท้ายในปี 65 ติดลบต่ออีก -11.82% มีเงินสะพัดรวมทั่วประเทศที่ 39,627.79 ล้านบาท

และจากการที่สถานการณ์โรคระบาดค่อย ๆ คลายตัวลง จีนเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น รวมถึงมีมาตรการช้อปดีมีคืนจากภาครัฐมาสนับสนุน ทำให้ปี 66 นี้ คาดว่าจะเป็นปีแรกที่เงินสะพัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 45,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% สูงสุดในรอบ 3 ปี จากประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 (Growth GDP 3.6%)

ถึงแม้จะเติบโต แต่ยังมีปัจจัยลบซ่อนอยู่

หากมองลึกลงไปจะพบว่า ตัวเลขมูลค่าคาดการณ์ของปีนี้ที่ 45,017 ล้านบาท เมื่อเทียบกับตัวเลขเงินสะพัดในปี 62 ที่ 58,398.21 ล้านบาท ยังถือว่าห่างไกลกันมากพอสมควร เพราะถึงแม้จะมีปัจจัยบวกทำให้คนไทยกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้ยังระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองปัจจัยที่ทำให้คนยังระมัดระวังกับการใช้จ่ายออกมาเป็น 3 ประเด็น คือ 1.ราคาสินค้าสำคัญของเทศกาล เช่น เครื่องเซ่นไหว้ ที่ปรับตัวสูงขึ้นราว 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน 2.คนไทยวางแผนลดค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ทำบุญ และทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น และ 3.การลดค่าใช้จ่ายการแจกอั่งเปา/ทอง ทั้งจำนวนเงินและจำนวนผู้ให้

สอดคล้องกับผลสำรวจของหอการค้าไทยในช่วงตรุษจีน พบว่า คนไทยกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวแพงขึ้นเป็นอันดับแรก โดยให้คะแนนความกังวลมากถึง 6.2 เต็ม 10 รวมไปถึงกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ การขึ้นราคาสินค้าที่จำเป็นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่ 6.04 และ 5.97 ตามลำดับ

นอกจากนี้ผลสำรวจจากหอการค้าไทยยังพบอีกว่า คนไทยมากกว่าครึ่ง (56.8%) ใช้เงินออมเพื่อจับจ่ายในเทศกาลตรุษจีน ขณะที่ 22.4% จับจ่ายจากเงินเดือน และ 15% ใช้เงินโบนัสเพื่อจับจ่าย ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าหลังจบเทศกาลตรุษจีน คนกรุงจะกลับมาวางแผนใช้จ่ายอย่างรัดกุมมากขึ้น ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูง

อานิสงส์นักท่องเที่ยวจีน ดันใช้จ่ายตรุษจีนไทย

ถึงแม้คนไทยจะระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แต่กับนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่งได้มีโอกาสเดินทางออกนอกประเทศอย่างอิสระ จะเช้ามาช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยในช่วงตรุษจีน จะเห็นว่าตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวทยอยไหลเข้าไทยอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวจีน ทยอยเข้าไทยถึง 3 แสนคน ในไตรมาสแรกปี 66 ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อาจต้องทบทวนการประเมินจีดีพีปี 66 ใหม่อีกรอบในเดือนกุมภาพันธ์ หลังนักท่องเที่ยวจีนไหลเข้าไทยเร็วกว่าที่คาด

หากลงลึกมาที่สินค้าที่ได้ประโยชน์จากการที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามานั้นมีตั้งแต่ บรรดาผลไม้แปรรูป ทั้งทุเรียน มะม่วง มังคุด ขนุน สับปะรด ไปจนถึงกล้วย นอกจากนี้ยังมีขนมแบรนด์ไทย เช่น สาหร่าย ข้าวเกรียบ และลูกอม ขนมบางชนิดขายดีจนต้องทำรสทุเรียนออกมาวางขาย

ขณะที่ของใช้ยอดนิยม มีตั้งแต่ ยาดม ยาหม่อง ยานวด แบรนด์ไทย ที่คนจีนมักจะเหมากลับไปเป็นลัง รวมไปถึงเครื่องสำอางแบรนด์ไทย

ด้านแหล่งช้อปปิ้งยอดนิยมของคนจีน ได้แก่ ตลาดนัดจตุจักร ถนนข้าวสาร เอเชียทีค ย่านประตูน้ำ และเยาวราช ส่วนจังหวัดที่คนจีนชอบไป มีตั้งแต่ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต

ทั้งนี้ จากผลสำรวจความเห็นของหอการค้ายังพบว่า การที่นักท่องเที่ยวจีนเข้ามา จะส่งผลดีกับกับประเทศไทย โดยจะส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ให้มีการใช้จ่าย การจ้างงาน และเกิดการลงทุนในจังหวัด ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ขณะที่ความกังวลกับการเดินทางเข้ามาของคนจีนนั้นอยุ่นระดับต่ำ เมื่อเทียบกับผลที่จะได้รับจากนักท่องเที่ยว

สุดท้ายนี้คงต้องมาดูกันว่า ตรุษจีนปีนี้ เงินจะสะพัดมากหรือน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้

BTimes