หากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE–DTAC เกิดขึ้น เกมธุรกิจครั้งนี้ใครจะได้ ใครจะเสีย ?

1118
0
Share:

หากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE–DTAC เกิดขึ้น เกมธุรกิจครั้งนี้ใครจะได้ ใครจะเสีย ?
กลายเป็นข่าวใหญ่โตที่สะเทือนวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เมื่อมีการรายงานออกมาว่าบริษัทเทเลนอร์และบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) กำลังหารือกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) – DTAC ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของเทเลนอร์ เข้ากับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) – TRUE ซึ่งเป็นธุรกิจการสื่อสารในเครือซีพี กรุ๊ป

ประชาชนตั้งข้อสังเกตเรื่องส่วนแบ่งทางการตลาดและการแข่งขันด้านราคาที่อาจจะเป็นผลเสียต่อผู้ใช้บริการในอนาคตหรือไม่ ?

หลังจากเกิดกระแสต่างๆ มากมาย ทำให้วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ทางเครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ได้ออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยสรุปยืนยันการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) จับมือตั้งบริษัทใหม่ ตั้งกองทุนมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ หนุนสตาร์ทอัพ และแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทย โดยการสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ตั้งเป้าปรับโครงสร้างทางธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ สร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ สอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0

นอกจากการพิจารณาการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ ธุรกิจของ TRUE และ DTAC จะยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท ในขณะที่เครือซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TRUE กลุ่มเทเลนอร์ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ DTAC ตั้งเป้าที่จะหาข้อสรุปในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยจะส่งผลให้เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ถือหุ้นเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่ที่จะร่วมกันสร้างขึ้น

นอกจากนี้ TRUE และ DTAC จะดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ (Due Diligence) การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้แล้วเสร็จ

ถ้าการควบรวมของธุรกิจใหญ่เกิดขึ้นจริง ผลกระทบจะตกอยู่ที่ใคร ?

ประเทศไทยมีค่ายโทรศัพท์หลักที่เป็นผู้ให้บริการอยู่ 3 บริษัท ได้แก่ AIS, TRUE และ DTAC ถึงแม้ว่าในการแถลงข่าวทาง TRUE และ DTAC จะใช้คำว่าสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน หรือ Equal Partnership แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือการควบรวมบริษัท ถ้าหากเกิดการควบรวมกันจริง ทางบริษัทใหม่ของ TRUE และ DTACจะถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีเปอร์เซ็นต์สูงถึง 53.93% ทันที

เมื่อกลับมาดูในส่วนของลูกค้าแต่ละเครือข่ายในปัจจุบัน อ้างอิงจากข้อมูลจาก กสทช. พบว่า จำนวนเลขหมายที่มีผู้ใช้งานของแต่ละเครือข่ายในสิ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2563 AIS ถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 44.35% อันดับ 2 คือ TRUE อยู่ที่ 33.75% ตามด้วย DTAC อยู่ที่ 20.18% เท่ากับว่าบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมของ TRUE และ DTAC จะขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งเบียด AIS ตกอันดับทันที ซึ่งการควบรวมที่เกิดขึ้นนี้อาจจะส่งผลให้ดัชนี HHI ของธุรกิจโทรคมนาคมเกินกว่าเกณฑ์หรือไม่ ถ้าเกิดว่าเกินกว่าเกณฑ์อาจจะทำให้เกิดการครอบงำของตลาด และส่งผลลบต่อการแข่งขัน จะยิ่งทำให้มีการผูกขาดมากขึ้นถึงระดับอันตราย

หากพูดถึงข้อดีและข้อเสียก็อาจมีแน่นอน เช่น ข้อดี ถ้า TRUE และ DTAC มีการรวมตัวกันเกิดขึ้นจริง เงินลงทุนก็จะมีมากขึ้น อาจจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น อีกทั้งการเกิดกระแสข่าวลือก็ส่งอานิสงส์ให้หุ้นของบริษัทนั้นพุ่งขึ้นรัวๆ สำหรับข้อเสียที่สร้างความน่ากังวลใจ คือในแง่ผลประโยชน์ของผู้บริโภค เพราะหากการแข่งขันในประเทศน้อยลง อาจจะทำให้โปรโมชันที่เคยมีแพงขึ้น หรือผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกน้อยลง อาจมีผลต่อราคาค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ และการขายในด้านต่างๆ ซึ่งอาจไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่มีผู้ให้บริการถึง 3 เครือข่าย

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจน ก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 ที่ประเทศไทยมีเครือข่ายโทรศัพท์อยู่ 2 เจ้าคือ AIS กับ DTAC ในตอนนั้นโปรโมชันการใช้งานยังไม่เยอะเท่านี้ อีกทั้งมีค่าบริการที่สูง บางเครือข่ายโทรศัพท์ก็มีการติดล็อค IMEI (อีมี่) นั่นหมายถึง การล็อกระบบเครือข่าย คือเมื่อคุณซื้อโทรศัพท์ไปแล้วก็สามารถเลือกใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์ได้เพียงแค่เครือข่ายเดียว

แต่ถ้าการควบรวมในครั้งนี้เกิดขึ้นจริง ก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปเร็วมากนัก หรืออาจจะระยะเวลาประมาณ 2-3 ปีถึงจะแล้วเสร็จ สุดท้ายถ้าเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 บริษัทในตลาด แน่นอนว่าผลกระทบก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค

หากมองย้อนกลับไปในอดีต ยกตัวอย่างสัญญาณอินเตอร์เน็ตบ้านในสมัยนั้นมีความเร็วที่น้อยมาก แต่เพราะมีการแข่งขันเกิดขึ้น มีบริษัทเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้หลายบริษัทที่อยู่มาก่อน เริ่มปรับโปรโมชันให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ทั้งปรับลดราคา เพิ่มสัญญาณความเร็ว เพิ่มโปรโมชันทางเลือกมากมาย ปรับปรุงบริการหลังการขาย เพื่อที่จะดึงความเชื่อมั่นกลับมา ตลอดจนเกิดเป็น Brand Loyalty

ทั้งนี้ ก็ต้องรอดูกันต่อว่า กสทช. จะว่าอย่างไรกับการเดินเกมธุรกิจอย่างดุเดือดในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าในอนาคตการควบรวมจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็อยากให้ผู้ให้บริการพึงเห็นแก่ความสำคัญในเรื่องของประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับให้มากที่สุดก็พอ

BTimes