ชาวนายิ้มออก “ราคาข้าวตลาดโลกทะยานพุ่งสุดในรอบ 3 ปี” หลังอินเดียเขย่าตลาด แบนส่งออกข้าว กระทบความต้องการข้าวทั่วโลก

1091
0
Share:

ชาวนายิ้มออก “ ราคาข้าว ตลาดโลกทะยานพุ่งสุดในรอบ 3 ปี” หลังอินเดียเขย่าตลาด แบนส่งออกข้าว กระทบความต้องการข้าวทั่วโลก

ชาวนายิ้มออก “ราคาข้าวตลาดโลกทะยานพุ่งสุดในรอบ 3 ปี” หลังอินเดียเขย่าตลาด แบนส่งออกข้าว กระทบความต้องการข้าวทั่วโลก ส่อปั่นป่วนอีก ถ้าไทยต้องลดปลูกข้าว “ข้าวแพงแต่อาจไม่มีข้าวขาย” สะเทือนความมั่นคงด้านอาหาร

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดข้าวโลกต้องสั่นสะเทือน เมื่ออินเดียผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศห้ามการส่งออกข้าวทุกสายพันธุ์ ยกเว้นข้าวพันธุ์บาสมาติ โดยมีผลบังคับใช้ในทันที เพราะอินเดียเผชิญกับปัญหาเอลนีโญ จนทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศลดลงอย่างมาก ซึ่งอินเดียที่เปรียบเสมือนครัวหลักของโลก จำเป็นต้องเสิร์ฟข้าวให้โลกน้อยลง เพื่อความอยู่รอดของคนในประเทศ จึงทำให้วงการตลาดข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศปั่นป่วน

ด้วยความที่อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2565–2566 ที่ 22.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 40% ของโลก การลดปริมาณส่งออกจึงสร้างความกังวลให้กับทั่วโลก ความต้องการก็เพิ่มขึ้น เพราะความตระหนกตกใจพากันรีบซื้อรีบนำเข้า อุปทานก็เสี่ยงตึงตัวดันราคาแพงขึ้นตามกลไกตลาด

ส่วนไทยเองส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ที่ 8.5 ล้านตัน หลายคนอาจมองว่า “อย่างงี้ก็ดีกับไทยน่ะสิ เพราะไทยเองก็ส่งออกข้าวในปริมาณมากตามอินเดียไปติดๆ” และแถมความต้องการก็มีเพิ่มขึ้น แต่ความหวังที่ไทยจะขายข้าวได้ราคาดีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมนั้น อาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง เพราะไทยเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายกันกับอินเดีย ปัญหาเอลนีโญก็ทำให้ไทยปลูกข้าวได้น้อยลง เพราะน้ำไม่พอใช้ ต้องกันไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคก่อน ที่เหลือจึงจะนำไปใช้ในการทำการเกษตรได้ ซึ่งก็อาจจะเหลือไม่มากพอ เนื่องจากล่าสุด สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงได้ประกาศให้เกษตรกรหันไปเพาะปลูกพืชอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อยกว่า และสามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องลดปริมาณการปลูกข้าวลง ข้าวที่จะนำไปส่งออกจึงอาจลดลงด้วยนั่นเอง

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกว่าในปีนี้สมาคมฯ ยังคงตั้งเป้าหมายการส่งออกไทยไว้ที่ระดับ 8 ล้านตันเท่าเดิม จากปัจจัยหนุนปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศน่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากไม่ได้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งมากนัก อย่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ฝนก็ยังตกตลอดและบางพื้นที่มีน้ำท่วมด้วยซ้ำ ดังนั้นหากนาปีน้ำยังดี และในเขื่อนยังมีน้ำเพียงพอสำหรับทำนาปรังได้ ผลผลิตข้าวไทยก็ไม่น่าจะมีปัญหา

ส่วนราคาข้าวของไทย ตามการรายงานของสำนักข่าวนิกเกอิเอเชีย มีการซื้อขายที่ระดับ 607.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.ค. และพุ่งขึ้น 62.50 ดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในส่วนการส่งออกข้าว ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.– มิ.ย. 2566) การส่งออกข้าวไทยยังคงขยายตัวทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า 4.04 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 75,526 ล้านบาท

ในมุมของชาวนา ข้าวแพงก็น่าจะดีไม่ใช่น้อย เพราะจะขายได้ราคาดีขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีพ่อค้าคนกลางคือโรงสี ก่อนที่จะไปถึงผู้ส่งออก ซึ่งนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยบอกว่า แม้ราคาข้าวโลกจะทะยานขึ้น แต่โรงสีข้าวทั่วประเทศไม่ขายข้าวให้กับผู้ส่งออกข้าวเพื่อการส่งออก เพราะไม่สามารถตั้งราคาขายข้าวกันได้ จนผู้ซื้อบางรายยอมที่จะซื้อข้าวสารในราคาที่แพงขึ้น จากก่อนที่อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวเกือบทุกชนิด จะตั้งราคาขายข้าวสารอยู่ที่ตันละ 17,000 บาท แต่ต้องยอมซื้อในราคาสูงขึ้นตันละ 19,500–21,000 บาท และแม้ปีนี้ไทยยังตั้งเป้าส่งออกข้าวที่ 8 ล้านตัน แต่อาจจะไปไม่ถึง เพราะไทยอาจตกอยู่ในสถานะ “ข้าวแพงแต่ไม่มีข้าวขาย” และอีกมุมคือพ่อค้าคนกลางรับเละ

ในมุมผู้ส่งออก บอกว่าเรื่องนี้จะทำให้ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของการกำหนดราคาข้าวแต่ละชนิดที่อยู่ระหว่างการทำสัญญาซื้อขายที่อาจต้องเลื่อนไปก่อน เพราะคาดว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะสูงขึ้น ซึ่งทำให้ราคาข้าวในประเทศต้องปรับราคาขึ้นตามไปด้วย แต่ในแง่ดีก็คือ “ชาวนาจะสามารถขายข้าวเปลือกได้ราคาดีขึ้น”

นอกจากนี้นักวิเคราะห์อาวุโสของ Rabobank ยังเสี่ยงที่ราคาข้าวในตลาดโลกจะยังพุ่งถ้าไทยลดปริมาณปลูกข้าวด้วยอีกประเทศ เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมราคาข้าวในตลาดโลกให้ทะยานขึ้นไปอีก และเมื่อรวมกับอุปทานของธัญพืชทางเลือกอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย–ยูเครน ก็อาจจะส่งผลให้ราคาข้าวในปัจจุบันดีดตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีก็เป็นได้

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าขณะนี้ราคาข้าวในประเทศยังอยู่ในทิศทางที่ดี ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมจะติดตามใกล้ชิด แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อราคาข้าวถุงในประเทศ โดยล่าสุดราคาข้าวถุงในประเทศยังไม่ปรับขึ้นราคา ยังขายในราคาปกติ แม้ช่วงนี้จะมีทั้งสถานการร์ข้าวโลกหรือแม้แต่ปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงและอาจดันราคาขายปลีกข้าวในบ้านเราดีดขึ้นได้

ซึ่งจากการออกตรวจตลาดพบว่า ราคาข้าวหอมมะลิถุง 5 กิโลกรัม (กก.) ยังเฉลี่ยอยู่ที่ 210 บาท ข้าวขาว 100% เฉลี่ย 117 บาท แต่หลายห้างมีการจัดโปรโมชันลดราคา เช่น ข้าวหอมมะลิ ถุงละ 165 บาท ในบางจังหวัด 157-159 บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ต้องการเน้นย้ำคือ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน อยากให้ผลักดันการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ ลดต้นทุนการผลิต และต้องไม่เน้นแต่เรื่องราคาเท่านั้น เพราะหากเน้นแต่เรื่องราคา โดยไม่ดูแลว่าผลผลิตข้าวไทยจะเป็นอย่างไร และต้นทุนเป็นอย่างไร ถ้ายังใช้วิธีเก่าที่ทำมาอยู่เรื่อยๆ แล้วผลผลิตต่อไร่ยังต่ำก็จะไม่เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยในระยะยาวอย่างแน่นอน…

BTimes