สมรภูมิศึกค้าปลีกเตรียมเดือด เมื่อเจ้าสัวลุยปั้นโมเดลธุรกิจ แต่งตัวร้านค้าโชห่วยดึงค้าปลีกชุมชน ท้าศึกร้านสะดวกซื้อ 24 ชม.

1703
0
Share:

สมรภูมิศึกค้าปลีกเตรียมเดือด เมื่อ เจ้าสัว ลุยปั้นโมเดลธุรกิจ แต่งตัวร้านค้าโชห่วยดึงค้าปลีกชุมชน ท้าศึก ร้านสะดวกซื้อ 24 ชม.

สมรภูมิศึกค้าปลีกเตรียมเดือด เมื่อเจ้าสัวลุยปั้นโมเดลธุรกิจ แต่งตัวร้านค้าโชห่วยดึงค้าปลีกชุมชน ท้าศึกร้านสะดวกซื้อ 24 ชม. กระตุ้นกำลังซื้อชาวบ้าน คาดตั้งรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตภาครัฐ

หากย้อนกลับไปช่วงโควิด จะเห็นเลยว่าไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไหนๆ ต่างก็ปรับตัว หันมาใช้ช่องทางเดลิเวอรี่ ช่องทางออนไลน์เป็นเครื่องมือในการรับมือกับวิกฤต และเปลี่ยนผ่านรูปแบบธุรกิจการให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าหากเจาะไปยังร้านโชห่วย ร้านชุมชนเล็กๆ ร้านค้าในหมู่บ้าน ก็ยังมีบริการส่งเดลิเวอรี่ และมีการปรับตัว ไม่แพ้ร้านค้าปลีกใหญ่ๆ แล้วถ้าหากธุรกิจโชห่วยหรือร้านค้าชุมชนจะมีการอัปสกิล เพิ่มระดับของการจัดการร้านค้าให้ตอบโจทย์และเข้ายุคสมัยมากขึ้นมาบ้างล่ะ จะเป็นอย่างไร

เหตุผลที่ BTimes พาย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคโควิด-19 ก็เพื่อจะให้ทุกคนได้เห็นภาพการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจค้าปลีกในบ้านเรา เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ มีการรายงานว่าบรรดาบิ๊กเจ้าสัวค้าปลีกในไทย ต่างพากันปั้นโมเดลธุรกิจ เพื่อเข้ามาร่วมแข่งขัน ท้าชิงกันยกใหญ่ เพราะเจ้าสัวค้าปลีกในบ้านเราก็เห็นๆ กันอยู่ว่ามีอยู่แค่ไม่กี่ราย

ไม่ว่าจะเป็น เจ้าสัวซีพี “ธนินท์ เจียรวนนท์” แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ครองอาณาจักรร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น แม็คโคร-โลตัส, เจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” แห่งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ที่มีธุรกิจค้าปลีกในเครือ อย่างบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (บีเจซี), “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” แห่งเครือสหพัฒน์ ก็มีร้านสะดวกซื้อ 108 ช็อป, ลอว์สัน108, ห้างค้าปลีก 24 ชั่วโมงอย่าง ดอง ดอง ดองกิ, เจ้าพ่อคาราบาว กรุ๊ป “เสถียร เสถียรธรรมะ” มี ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีเจ มอร์ ร้านค้าทั่วไปหรือโชห่วยอัปเกรดแบรนด์ “ถูกดี มีมาตรฐาน” รวมทั้ง “ตระกูลจิราธิวัฒน์” ครอบครองกิจการค้าปลีกคลุมทุกเซ็กเมนต์ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ

โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ประเมินธุรกิจค้าปลีกปี 2566 ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเติบโตถึง 10% และมีมูลค่ากว่า 3.7 ล้านล้านบาท

แต่ถ้าจะแยกย่อยไปเป็นร้านสะดวกซื้อ จะเห็นภาพชัดขึ้นกว่าเดิมว่าร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้แตกแขนงกระจายอยู่ทั่วประเทศ แค่สังเกตด้วยตาก็พอจะชั่งน้ำหนักได้ว่าในพื้นที่ เอาง่ายๆ แค่ในตัวอำเภอสักหนึ่งอำเภอ คงจะพอนับได้ว่าถ้าเทียบกันกับเจ้าอื่น เซเว่นอีเลฟเว่น มีอยู่เยอะกว่าแน่นอน ดังนั้นการจะมาโค่นเจ้าของอาณาจักรนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานข่าวจาก สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่าเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” แห่งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด บุคคลผู้ครองความมั่งคั่งที่สุดในประเทศไทยด้วยสินทรัพย์ราว 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์ (กว่า 4 แสนล้านบาท) มีแผนจะบุกร้านของชำ 30,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็น “ร้านโดนใจ” ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในเครือของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (บีเจซี) ภายในปี 2570

ภายใต้แผนดังกล่าว บีเจซี จะเป็นผู้สนับสนุนด้านโลจิสติกส์ การตลาด และการจัดการข้อมูลให้กับร้านค้า เพื่อเปลี่ยนโฉมให้ร้านโชห่วยขนาดเล็กกลายเป็นร้านสะดวกซื้อยุคใหม่ โดยแลกกับการที่ร้านจะต้องลงสินค้าจากบริษัทต่างๆ ในเครือ เช่น บิ๊กซี และไทยเบฟ ในปริมาณไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้

ซึ่งตามรายงาน โมเดลธุรกิจก็จะคล้ายๆ ของซีพี ออลล์ ที่ต้องการจะรับเทรนด์ใหม่ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการซื้อของครั้งละมากๆ เป็นซื้อทีละน้อยแต่ซื้อบ่อยขึ้น ทำให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อกลายเป็นจุดหมายใหม่ของการลงทุน

บลูมเบิร์ก ยังวิเคราะห์ด้วยว่าธุรกิจการแข่งขันของร้านสะดวกซื้อในไทยมีแนวโน้มค่อนข้างรุนแรง ด้วยปัจจุบันรายใหญ่อย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น ประสบความสำเร็จ จากสัดส่วนจำนวนสาขาราว 75% ของร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศไปแล้ว โดยปี 2566 ยังมีแผนขยายเพิ่มอีก 700 สาขา หากมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด ย่อมส่งผลให้การแข่งขันของตลาดร้านสะดวกซื้อไทยจะมีความเข้มข้นที่มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ “เจ้าสัวเจริญ” มีธุรกิจค้าปลีกอยู่ในมือ จึงนับเป็นหนึ่งในเครื่องมือและกุญแจสำคัญทางการค้าที่จะได้รู้พฤติกรรมผู้บริโภค การซื้อสินค้าต่างๆ ตลอดจนอินไซด์การจับจ่ายใช้สอยที่มีต่อสินค้า ซึ่งโมเดล “ร้านโดนใจ” เป็นการพัฒนาระบบ POS ช่วยร้านโชห่วย โดยจะมีทีมงานช่วยเพิ่มทักษะ องค์ความรู้การทำธุรกิจค้าปลีกให้ได้ ด้านการลงทุนสามารถพึ่งพา “บีเจซี” ที่ใช้เครือข่าย “บิ๊กซี” ร้านใหญ่ 200 สาขา ป้อนสินค้าให้ หรือเจ้าของร้านจ่ายค่าบริหารระบบรายเดือนให้กับบริษัท โดยผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยสามารถเลือกลงทุนและสินค้าที่จำหน่ายได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งผลกำไร ใช้งบลงทุนที่ไม่สูง ขณะที่การปรับปรุงร้านค้านั้น หากผู้ประกอบการต้องการปรับโฉมหรือตกแต่งให้ดูทันสมัยก็สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมของงบประมาณที่ตัวเองเห็นสมควร ซึ่งแน่นอนว่าเหมาะกับธุรกิจรายเล็กหรือในระดับเริ่มต้น

บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ CBRE Group มองว่า ตอนนี้เจ้าตลาดอย่าง ซีพี ออลล์ ที่เป็นเจ้าอาณาจักรธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 14,000 แห่งหรือเกือบ 3 ใน 4 ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อทั้งหมดในประเทศไทย ส่งผลให้การจะเจาะเข้ามาในธุรกิจร้านสะดวกซื้อในไทยคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักอีกเช่นกัน

แต่หากมองถึงโยบายรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การบริหารของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี มีแผนแจกดิจิทัลวอลเลต มูลค่า 10,000 บาท โดยใช้งบประมาณรวม 560,000 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจภาคครัวเรือนอยู่แล้ว ก็น่าจะเป็นผลบวกต่อการลงทุนธุรกิจด้านนี้ ยิ่งถ้าการดึงเอาร้านชุมชนมาพัฒนาเพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน การใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตก็ดูจะเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างสรรค์เอามากๆ เพราะนอกจากนายทุนที่จะได้ รัฐที่จะได้ประโยชน์ ยังรวมไปถึงอีโคซิสเท็มในชุมชนที่จะต้องเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งการจะให้เกิดความยั่งยืน ภาครัฐเองก็ต้องมีแผนบริหารจัดการนโยบายอย่างเป็นระบบ ไม่ให้เม็ดเงินร้านค้าที่ถูกรัฐยืมต้องตกค้าง จนทำให้ธุรกิจต้องล้มหายตายจาก เหมือนกับในอดีตที่หลายฝ่ายเป็นกังวล ถึงจะเรียกว่า…ยั่งยืนที่แท้ทรู…

BTimes