สุสานอีวี! เปิดสุสานซากรถไฟฟ้าพร้อมขยะแบตเตอรี่รถอีวีใหญ่สุดในโลก อนาคตแบรนด์รถไฟฟ้าจีนกับสุสานและขยะรถไฟฟ้าที่ไม่มีคำตอบ

4948
0
Share:

สุสานอีวี! เปิด สุสาน ซากรถไฟฟ้าพร้อมขยะแบตเตอรี่รถ อีวี ใหญ่สุดในโลก อนาคตแบรนด์รถไฟฟ้าจีนกับสุสานและขยะรถไฟฟ้าที่ไม่มีคำตอบ

ชานเมืองหางโจว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียง จีนแผ่นดินใหญ่ มีวัดจีนที่ทรุดโทรมหลายแห่งกลายเป็นที่ทิ้งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีจำนวนมากมายนับกว่าพันคันจากหลากหลายยี่ห้อที่ผลิตโดยบริษัทสัญชาติจีน ตัวรถไฟฟ้าเต็มไปด้วยเศษซากขยะ และวัชพืชขึ้นเกาะเต็มแทบทุกคัน ในขณะที่ แบตเตอรี่ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่หมดอายุใช้งาน หรือเสื่อมโทรมตามเวลาผ่านไป ถูกถอดออกและกองทิ้งเป็นจำนวนมากมายตามชานเมืองหลายแห่ง ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 6 เมืองขึ้นไปกระจายในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่

สุสานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือสุสานรถอีวี และแหล่งทิ้งขยะแบตเตอรี่ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเมืองหลวงขนาดใหญ่อย่างหางโจว และเมืองอื่นๆ อีกมากมาย ได้กลายเป็นผลลัพธ์ หรือการแสดงให้เห็นถึงวงจรอุบาทว์ธุรกิจบริการร่วมเดินทางรถยนต์ ที่เรียกว่า Ride-hailing ในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ไม่แตกต่างจากเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ที่คนจีนและคนทั่วโลกได้เห็นสุสานรถจักรยานมอเตอร์ไฟฟ้าที่เต็มได้ไปด้วยซากรถจักรยาน ขยะมอเตอร์ไฟฟ้า จำนวนมากมายนับหลายล้านคันถูกนำมาทิ้งกองพะเนินเทินทึกไม่แตกต่างจากภูเขาสูง มีนำไปทิ้งในแม่น้ำ หรือแม้แต่ที่จอดรถรกร้างว่างเปล่า เนื่องจากธุรกิจสตาร์ทอัพให้บริการเช่าขับขี่อย่างแบรนด์โอโฟ (Ofo) และโมไบค์ (Mobike) ล่มสลายและเกิดฟองสบู่แตกในธุรกิจประเภทนี้

การเกิดขึ้นของสุสานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือสุสานรถอีวีในจีน มีสาเหตุจากธุรกิจบริการร่วมเดินทางรถยนต์ ที่เรียกว่า Ride-hailing ในจีนล่มสลาย และอีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญ คือ รถอีวีล้าสมัยเร็วมาก เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในจีนที่มีจำนวนเหลืออยู่มากกว่าหลายร้อยแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ หรือบริษัทผลิตยานยนต์ดั้งเดิม ล้วนผลิตและเปิดตัวรุ่นใหม่บ่อยมากขึ้น ด้วยสมรรถนะที่ดีขึ้น ด้วยคุณสมบัติของแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพใช้งานวิ่งได้ไกลขึ้น สิ่งที่น่ากังวลในอนาคต คือ เศษซากขยะรถอีวีรวมถึงขยะแบตเตอรี่และขยะอิเลคทรอนิกส์ที่จะมีปริมาณล้นหลาม โดยเฉพาะเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนผ่านไปยอมรับการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากอดีตสู่อนาคต

เมื่อ 10 ปีผ่านมา รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ประกาศมาตรการอุดหนุนผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งประเภทสตาร์ทอัพ หรือประเภทรถยนต์ดั้งเดิม ล้วนแห่ลงทุนและผลิตรถอีวีเป็นจำนวนมาก ในช่วงนั้น รถอีวีส่วนใหญ่ที่ผลิตออกมาถูกซื้อโดยบริษัทที่ทำธุรกิจบริการร่วมเดินทางรถยนต์ แล้วนำไปให้ประชาชนที่สนใจมาเช่ารถอีวี เพื่อให้บริการร่วมเดินทาง อันเป็นการหารายได้เพิ่มไปในตัว มีคนจำนวนน้อยมากๆ ที่ตัดสินใจซื้อรถอีวีจากบริษัทให้บริการร่วมเดินทาง มาเป็นของตัวเอง เพื่อนำไปหารายได้ในบริการดังกล่าว

จีนแผ่นดินใหญ่กลายเป็นประเทศที่จ้าวแห่งการผลิตยานยนต์พลังงานสะอาดของโลก ในปีผ่านมา จีนแผ่นดินใหญ่สามารถผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งแบบรถไฟฟ้า 100% หรือรถบีอีวี และรถยนต์พลังไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊กชาร์จแบตเตอรี่ หรือรถพลักอิน ที่ใช้พลังงานน้ำมันทำงานผสมผสานกับแบตเตอรี่ไฟฟ้า รวมกันทั้ง 2 ประเภทเป็นจำนวนถึง 6 ล้านคัน นอกจากนี้ จีนแผ่นดินใหญ่ยังผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคิดเป็น 60% ของปริมาณรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วโลก และยังเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายการใช้ไฟฟ้าในแบตเตอรี่ที่มากที่สุดของโลก

แต่ในที่สุด ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ให้บริการร่วมเดินทางเหล่านี้มีอันต้องล้มหายตายจากไปทั้งหมด ปิดบริษัทถาวร สาเหตุจากทำกำไรยากมาก ใช้เวลาคืนทุนยาวนานกว่าที่วาดภาพไว้สวยหรู และเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณชะลอตัวมาตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 จึงส่งผลกระทบให้เกิดภาวะฟองสบู่แตกในวงการผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ จากที่เคยมีผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากกว่า 500 รายเมื่อ 4 ปีผ่านมา ในทุกวันนี้ มีเหลือเพียงร้อยรายเท่านั้น

ในแง่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ต้องยอมรับว่าก่อนที่แบรนด์เทสลาจะเข้าไปทำตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าครั้งแรกในตลาดรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนี้ รวมถึงลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้าของเทสลาแห่งแรกในนครเซี่ยงไฮ้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่มีแต่ขนาดเล็ก และคุณภาพต่ำ ทำให้รถยนต์ดังกล่าวผลิตด้วยคนจีนไม่ได้รับความนิยมจากชาวจีนแม้แต่น้อย

รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่หวังให้ชาวจีนหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นด้วยการใช้มาตรการสนับสนุนส่วนลดราคาขายคันละ 60,000 หยวน หรือคันละ 300,000 บาท มาตรการนี้ส่งผลทางอ้อมไปถึงผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เหลืออยู่ประเมินว่าจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน หรือแม้แต่ต้องรองรับความต้องการใช้บริการร่วมเดินทางของบริษัทต่างๆ ที่ค่ายรถยนต์เข้าไปลงทุนอยู่ด้วย ในช่วงกลางทศวรรษ 2010 รัฐบาลจีนรีบเร่งให้เกิดการยอมรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเร็วที่สุด จึงใช้มาตรการระบบเครดิตให้กับค่ายรถยนต์พลังไฟฟ้าที่มีผลประกอบการดี ในขณะที่ใช้มาตรการลงโทษกับค่ายรถยนต์ที่ผลิตยานยนต์ที่ไม่ประหยัดพลังงาน

ในปี 2021 ฟิทช์ เรตติ้งส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนชื่อดังระดับโลก เปิดเผยรายงานว่า จากมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ค่ายผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้องตั้งบริษัทใหม่ในเครือขึ้นมา เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการร่วมเดินทาง ซึ่งเป็นทางออกที่ง่ายที่สุดในการระบายสต๊อกรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่แต่ละค่ายผลิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงนั้นสต๊อกรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตออกมา ไม่ได้รับการซื้อจากประชาชนหรือผู้บริโภคทั่วไป

มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่กลับเป็นช่องว่างให้ค่ายรถยนต์หลายค่ายในจีนแผ่นดินใหญ่โกงการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อต้องการยื่นขอรับมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น ค่ายรถยนต์บางรายผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยใช้โครงรถยนต์ หรือ Chassis ว่างเปล่า เพื่อไม่ใส่แบตเตอรี่ไฟฟ้าลงไป หรือผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ไม่เป็นไปตามสเป็กที่ถูกต้องตามมาตรฐาน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เป็นมูลค่า 9,300 ล้านหยวน หรือ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 46,500 ล้านบาท

รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ได้ทบทวนมาตรการสนับสนุนเงินอุดหนุนผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศ ด้วยการยกเลิกมาตรการดังกล่าวทันที ส่งผลให้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจร่วมเดินทางจำนวนมากปรับเปลี่ยนธุรกิจไม่ทัน ทำให้กระแสเงินสด และสภาพคล่องเกิดวิกฤต

นางจิง หยาง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ จีนแผ่นดินใหญ่ ถึงกับกล่าวว่า ไม่แปลกใจเลยที่จะได้เห็นสุสานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือสุสานรถอีวีในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เรื่องราวทั้งหมดสรุปให้เห็นถึงอุตสาหกรรมและตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นตลาดยานยนต์พลังงานใหม่ในจีน แต่มีการกล่าวถึงน้อยมากๆ กับอนาคตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

BTimes