พัฒนาการตามวัย ปัญหาใหญ่ที่ระบบการเรียนออนไลน์ให้ไม่ได้

1273
0
Share:

พัฒนาการตามวัย ปัญหาใหญ่ที่ระบบการ เรียนออนไลน์ ให้ไม่ได้

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในตอนนี้ที่ยังคงรุนแรง มีการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง และยังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่ถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งการจัดแบ่งพื้นที่ความรุนแรงของการแพร่ระบาดนี้ ส่งผลกระทบไปยังหลากหลายกิจการในห้างร้านหรือสถานที่สำคัญต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่สถานที่บ่มเพาะความรู้อย่างโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษานอกระบบ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ล่าสุดทางกระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศเลื่อนวันเปิดภาคเรียนสำหรับจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม จากวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แต่สำหรับพื้นที่อื่นๆ สามารถเปิดได้ตามกำหนดการเดิม พร้อมเน้นย้ำว่ายังคงต้องรักษามาตรการ Social Distancing

ในช่วงก่อนหน้านี้ได้มีการแก้ปัญหาการเรียนการสอนด้วยการจัดระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม ลดความแออัดในการอยู่ร่วมกัน ทำให้ทั้งคุณครูและนักเรียนต่างต้องปรับตัวกันอยู่ไม่น้อย เพราะการเรียนออนไลน์ถือเป็นเรื่องใหม่และถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษารูปแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์การสื่อสาร หรือแพลตฟอร์มการเรียนต่างๆ เข้ามาแทนที่ เพื่อสร้างห้องเรียนเสมือนจริงที่มีความสะดวกรวดเร็ว ทั้งยังสามารถขจัดอุปสรรคด้านเวลาและสถานที่ได้

แต่ปัญหาที่พบสำหรับการเรียนออนไลน์ก็มีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นความไม่พร้อมของเทคโนโลยีที่นักเรียน-นักศึกษาแต่ละคนมีไม่เท่ากัน หรือแม้กระทั่งปัญหาของครูผู้สอนที่บางท่านอาจไม่ได้มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยี เกิดเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้การเรียนการสอนผ่านไปอย่างราบรื่นที่สุด

ถ้าลองมองลึกลงไปถึงปัญหาของการเรียนแบบออนไลน์ จะพบว่ามีหนึ่งปัญหาที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบในระยะยาว นั่นคือการที่เด็กต้องกักตัวอยู่กับบ้าน และพบเจอกับสภาพแวดล้อมเดิมๆ ทำให้การสร้างปฏิสัมพันธ์ การเข้าสังคม และการเรียนรู้การที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวลดลง ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กในแต่ละวัยจะมีพฤติกรรม และการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการเรียนออนไลน์ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พัฒนาการ และการเรียนรู้ที่จะการเข้าสังคมบางอย่างขาดหายไปได้ ยกตัวอย่างเช่น

● ระดับปฐมวัย: เป็นวัยที่ควรได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทั้งกล้ามเนื้อ ภาษา การสื่อสาร อารมณ์ สังคม และการอยู่ร่วมกับคนอื่น จึงทำให้การเรียนออนไลน์อาจไม่เหมาะกับเด็กในวัยนี้เท่าไรนัก แต่ควรเป็นการออกไปเรียนรู้โลกภายนอก และฝึกการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อกระตุ้นพัฒนาการมากกว่า

● ระดับประถม: เด็กในวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้โลกกว้างมากขึ้น ชอบความตื่นเต้น สนใจในสิ่งแปลกใหม่ ชอบเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน แต่การอยู่บ้านเป็นเวลานานอาจทำให้พัฒนาการเหล่านี้ขาดหายไป

● ระดับมัธยม: วัยนี้จะเป็นช่วงวัยรุ่น มีความสนใจเพื่อนมากกว่าคนในครอบครัว ต้องการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งการที่ไม่ได้ออกไปเจอสังคมภายนอกอาจทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาจทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งมีผลกระทบต่อการเรียนและการดำเนินชีวิต

● ระดับวิทยาลัย / มหาวิทยาลัย: เป็นช่วงวัยของการปรับตัว บางคนต้องห่างจากบ้าน ต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่สำคัญก่อนที่จะก้าวไปสู่วัยทำงานที่ต้องพบเจอผู้คน และสถานการณ์หลากหลายรูปแบบ แต่การเรียนแบบออนไลน์ที่จำต้องอยู่เฉพาะแต่ในบ้านหรือหอพัก อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กในวัยนี้มีปัญหาในการเข้าสังคมและการใช้ชีวิต

จากผลกระทบที่กล่าวมาข้างต้นอาจดูเหมือนยังทำให้ไม่เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงมาก เนื่องจากผลกระทบส่วนนี้ อาจเกิดขึ้นในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของเยาวชนยุคโควิด-19 ในอนาคต แต่ถ้าทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยกันประคับประคอง และช่วยให้คำปรึกษาชี้แนะแนวทางให้เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณครู หรือผู้ปกครอง ก็เชื่อว่าปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สุดท้ายทีมงาน BTimes ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปพร้อมกัน และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดีขึ้น ทุกคนจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และมีความสุขอีกครั้งค่ะ สู้ๆ นะคะ

BTimes