แบงก์ชาติเอาบ้าง ลุยปั้น “บาทดิจิทัล CBDC” ทางเลือกสกุลเงินใช้จ่ายของประชาชน จะทดแทนเงินรูปแบบเดิมได้หรือไม่ ต่างจากเงินคริปโทฯ อย่างไร?

1594
0
Share:

แบงก์ชาติเอาบ้าง ลุยปั้น “บาทดิจิทัล CBDC” เงินดิจิทัล ทางเลือกสกุลเงินใช้จ่ายของประชาชน จะทดแทนเงินรูปแบบเดิมได้หรือไม่ ต่างจากเงินคริปโทฯ อย่างไร?

ปัจจุบันเงินดิจิทัล หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่เรารู้จักมักจะอยู่บนกระดานเทรด หรือเฉพาะกลุ่มในโลกของการลงทุนเท่านั้น แถมคนส่วนใหญ่ยังมองด้วยว่าเป็นแค่ “เงินทิพย์” อยู่บนโลกเสมือนจริงไม่สามารถนำมาใช้จ่ายหรือทำธุรกรรมทางการเงินได้ หรือถ้าจะมีก็แค่ไม่กี่ธุรกิจเท่านั้นที่สามารถใช้เงินดิจิทัลซื้อของได้ ยกตัวอย่างที่เคยมีมาก่อนก็อย่างเช่น เทสลา ค่ายรถยนต์ของเจ้าพ่อเทคโนโลยี “อีลอน มัสก์” ที่สามารถใช้เงินบิทคอยน์ชำระแทนเงินดอลลาร์ได้ แต่ก็ได้เฉพาะที่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น

แต่เงินดิจิทัลนั้นส่วนใหญ่แล้วจะถูกพัฒนามาจากเอกชน เหมือนกับ Bitcoin หรือ Dogecoin ที่ต่างมีผู้พัฒนาคนละคนกัน ดังนั้นบรรดาธนาคารหลายๆ แห่งทั่วโลกจึงได้รึเริ่มพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า CBDC ซึ่งย่อมาจาก Central Bank Digital Currency โดยถ้าให้เข้าใจก็คือเป็นเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เหมือนๆ กับสกุลเงิน Fiat หรือเงินกระดาษปกติ ในกรณีของบ้านเรา CBDC ก็จะหมายถึงเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยแบงก์ชาติ แต่อยู่ในรูปแบบ ‘ดิจิทัล’ เท่านั้นเอง หรือจะเรียกว่า ‘บาทดิจิทัล’ ก็ได้ไม่ผิด

ซึ่งเจ้า CBDC สามารถนำไปใช้ชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale) เช่นการโอนระหว่างประเทศ ไปจนถึงการใช้ในระดับรายย่อย (Retail) หรือ การนำมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน หรือที่แบงก์ชาติออกมาเรียกว่า Retail CBDC นั่นเอง โดยจะแตกต่างจากเงินดิจิทัลบนกระดานเทรดอย่างแน่นอน เพราะจะไม่มีความผันผวนจากการใช้เพื่อเก็งกำไร

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติของไทยเองก็ได้ทำการศึกษามาได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว โดยเริ่มต้นทดสอบระบบการชำระเงินต้นแบบในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งมาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ ‘อินทนนท์’ และยังได้ร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกงและธนาคารกลาง UAE ทดสอบระบบโอนเงินสกุลดิจิทัลข้ามประเทศระหว่างกันไปแล้วด้วย

รวมไปถึงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน หรือ Retail CBDC ซึ่งการออกแบบและการพัฒนานั้นก็อยู่ภายใต้ข้อจำกัดว่าจะต้องไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย โดยหลักการบาทดิจิทัลในเบื้องต้น มูลค่าจะถูกหนุนหลังด้วยเงินบาทในอัตราส่วน 1:1 นั่นหมายความว่าทุกๆ การออกเงิน 100 บาทดิจิทัล จะต้องมี 100 บาทเก็บสำรองเอาไว้ในบัญชี ธปท. อยู่เสมอ โดยเงินบาทดิจิทัลถูกออกแบบมา เพื่อให้ประชาชนนำไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันไม่ต่างจากการใช้เงินสด การโอนผ่านโมบายล์แบงก์กิ้ง หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้บนแอปพลิเคชันต่างๆ ถ้าหากใครต้องการเงินบาทดิจิทัล ก็เพียงแค่นำเงินสดหรือเงินฝากไปแลกกับแบงก์ หรือผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.

ยกตัวอย่างแบงก์พาณิชย์มาร่วมพัฒนาและทดสอบ Retail CBDC เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งการทดสอบก็ได้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565และมาจนถึงกลางปี 2566 เป็นการใช้งานจริงในวงจำกัด ภายใต้ 2 แกนหลัก คือ

– การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation Track) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย
– การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation Track) เพื่อสร้างบริการทางการเงินใหม่ๆ โดยจะนำร่องเปิดทดสอบให้บริการในช่วงปลายปี 2565 จนถึงกลางปี 2566 ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมีความเชี่ยวชาญในเชิงลึก รวมถึงมีประสบการณ์ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อลูกค้ารายย่อย เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (E-Wallet) ในวงจำกัดร่วมกับหลากหลายพาร์ทเนอร์ชั้นนำของประเทศ แอปพลิเคชัน SCB EASY Robinhood (โรบินฮู้ด) และอื่นๆ ด้วย

และล่าสุด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อีกหนึ่งพันธมิตรที่ได้ร่วมกับแบงก์ชาติพัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน CBDC Krungsri เพื่อเป็นแอปพลิเคชันสำหรับทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลสำหรับภาคประชาชน (Pilot test Retail CBDC) ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำหรับใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ จากร้านค้าที่เข้าร่วมทดสอบโครงการ Retail CBDC ซึ่งทางกรุงศรีได้มีการพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ในช่วงลงสนามทดลองใช้จริงในวงจำกัด

โดยการทดสอบครั้งนี้เป็นการทดสอบการใช้งานพื้นฐาน ทั้งการเติม การจ่าย โอน แลกคืน CBDC โดยมีผู้เข้าร่วมทดสอบ (Whitelist) เป็นผู้ใช้บริการและร้านค้า โดยได้เริ่มทดสอบการใช้งานที่บริเวณธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเริ่มขยายบริเวณทดสอบมายังสำนักงานธนาคารกรุงศรีฯ และร้านค้าโดยรอบ ณ สำนักงานใหญ่ พระราม 3 และ สำนักงานเพลินจิต ตั้งแต่ปลายพฤษภาคม จนถึงประมาณไตรมาส 3 ปีนี้ โดยมีร้านค้าในตลาดครูหวีและร้านอาหารในศูนย์อาหารร่วมทดสอบรวมทั้งสิ้นกว่า 100 ร้านค้ามีพนักงานธนาคารกรุงศรีฯ ที่เข้าร่วมทดสอบกว่า 2,000 คน

ในกลุ่มผู้ใช้งานที่ร่วมทดสอบ ก่อนอื่นก็จะต้องดาวน์โหลดแอปฯ CBDC Krungsri ได้จาก App Store หรือ Play Store และลงทะเบียนเพื่อใช้งาน โดยในระบบทดสอบนี้ ผู้ใช้งานสามารถเติม CBDC ผ่านบัญชีธนาคารกรุงศรีที่ได้ทำการผูกไว้ และแลก CBDC กลับคืนเป็นเงินในบัญชีดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาทดสอบ โดย 1 CBDC มีมูลค่า เท่ากับ 1 บาทเสมอ

สำหรับ CBDC Krungsri มี 4 Features หลักคือ เติม จ่าย โอน และแลกคืน CBDC สามารถแยกการใช้งานของผู้ใช้งานทั่วไป และร้านค้าได้ อีกทั้งธนาคารกรุงศรีฯ ได้ทดลองพัฒนา Feature สำหรับร้านค้าต่อยอดจากระบบ CBDC เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน ดังนี้

– มี Feature พิเศษแยก wallet ออกเป็น 2 wallet คือ สำหรับร้านค้าและส่วนตัว แต่ละ wallet สามารถแยกใช้ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการเงินในร้านค้าไม่ให้ปะปนกับเงินใช้ส่วนตัว
– เจ้าของร้านค้าสามารถแชร์ wallet ให้แก่พนักงานขายหน้าร้านได้มากถึง 5 คน เพื่อรองรับร้านค้าที่มีหลายสาขา
– การแจ้งเตือนเงินเข้าเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบว่ายอดเงินเข้าถูกต้องหรือไม่ทั้งในรูปแบบข้อความ (In-app Notification) และรูปแบบเสียง (Text to speech)
– การแลกคืน ร้านค้าสามารถแลกคืน CBDC ด้วยตนเองระหว่างวันได้ หรือจะกำหนดให้ระบบทำการแลกคืนให้ทั้งหมดโดยอัตโนมัติเมื่อสิ้นวัน

และในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 นี้ กรุงศรีจะขยายการทดสอบจากการใช้จ่ายกับร้านค้ารายย่อยไปยังกลุ่มร้านค้าที่เป็นลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate customers) ที่อยู่ใน Whitelist เพื่อศึกษาการทดสอบใช้งาน CBDC กับระบบการทำงานของร้านค้าขนาดใหญ่ด้วย

ปัจจุบัน Retail CBDC เป็นโครงการเพื่อศึกษา “Pilot to Learn, Not Pilot to Launch” ซึ่งการทดสอบในครั้งนี้เป็นการทดสอบในวงจำกัด โดยมีผู้ใช้งานและร้านค้ารวมทั้งโครงการและทุกผู้ให้บริการประมาณ 10,000 คนเท่านั้น ยังไม่มีแผนที่จะออกใช้งานจริง และจะต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ทดสอบระบบให้มั่นใจได้ถึงความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน ตลอดจนข้อสรุปในเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้ชัดเจนที่สุด

ก็หวังว่าในอนาคตประชาชนคนไทยจะได้ใช้เงินบาทดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ส่วนความนิยมจะถูกทดแทนมากกว่าเงินสด และ E-Payment ในปัจจุบันหรือไม่ คาดว่าอาจจะต้องสร้างความคุ้นเคย และปรับตัวค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต่างจากระบบ E-Payment เมื่อก่อน แต่จะเข้ามาทดแทนรูปแบบเดิมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการ ความพร้อมของผู้ใช้เอง

BTimes