เมื่อโควิด-19 กลับมานิวไฮอีกครั้ง จน สธ. ต้องยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 4

762
0
Share:

เมื่อ โควิด-19 กลับมานิวไฮอีกครั้ง จน สธ. ต้องยกระดับการ เตือน ภัยเป็น ระดับ 4
สถานการณ์โควิด-19 ในไทยล่าสุด สร้างปรากฏการณ์ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงทุบสถิติทำนิวไฮอีกครั้ง และคาดว่าหลังจากนี้ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มดังกล่าวสร้างความตกใจให้กับประชาชนในการเข้ารับการรักษา รวมถึงสร้างความหวาดระแวงในการใช้ชีวิตประจำวัน

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประเทศไทยพบยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ด้วยการตรวจแบบ RT-PCR พุ่งขึ้น 24,932 ราย และพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการตรวจแบบ ATK อีก 22,509 ราย เสียชีวิต 41 ราย ตัวเลขนี้ถือเป็นการพบผู้ติดเชื้อรายวันรวมสุทธิแล้วกว่า 47,441 ราย คาดว่าหลังจากนี้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก สาเหตุหลักก็มาจากการที่ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในระลอกปัจจุบัน รวมทั้งยังพบการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนสายพันธุ์รองอย่าง BA.2 ร่วมด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้สายพันธุ์โอไมครอน BA.2 จะระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์โอไมครอน BA.1 แต่เบื้องต้นก็ไม่พบความรุนแรงที่แตกต่าง หรือมากไปกว่าสายพันธุ์ BA.1 แต่อย่างใด จากข้อมูลนี้จึงช่วยลดความกังวลให้กับประเทศต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน BA.2 เป็นวงกว้าง รวมถึงประเทศไทยก็กำลังเผชิญการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน BA.2 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

จากการติดตามสถานการณ์ข่าวมาโดยตลอด จะพบว่าด้านสาธารณสุขไทยพยายามสื่อสารกับประชาชนว่าไม่ต้องวิตกกังวล รัฐบาลคุมอยู่ ซึ่งในความเป็นจริงสิ่งที่รัฐบาล และสาธารณสุขไทยควรทำ คือการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับประชาชนให้เกิดเข้าใจ และสร้างความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ควรมีมากกว่านี้ เพราะเมื่อผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ปัญหาจากสภาพจริงที่ประชาชนพบคือจำนวนเตียงรักษาที่ไม่เพียงพอ จนประชาชนหลายคนต้องหันหน้าพึ่งพากันเองผ่านกระบอกเสียงในสื่อโซเชียลมีเดีย สื่อโทรทัศน์ หรือการร้องขอความช่วยเหลือกับเพจอาสาต่างๆ โดยสิ่งที่น่ากังวลของการระบาดในรอบนี้คือการที่เด็กกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด สิ่งที่ควรจะแก้ไขต่อไปไม่ใช่การล็อกดาวน์ แต่ควรมีทางเลือกการรักษาที่ชัดเจนให้กับผู้ป่วยทุกกลุ่มตามระดับสีมากกว่านี้

ทางด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุถึงยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นว่านับจากนี้อาจจะไม่มีการรายงานผลผู้ติดเชื้ออีกต่อไปแล้ว แต่จะเน้นการติดตามและการรายงานผลผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง เพื่อเน้นแนวทางการควบคุมการระบาดและการรักษา สำหรับเรื่องการออกจากโรคระบาด (Pandemic) ไปเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) แทน ซึ่งเป็นการวางแผนไว้ในอีก 4 เดือนข้างหน้า โดยจะมีรายละเอียดออกมาในสัปดาห์หน้าว่าการที่จะออกจากโรคระบาด จะต้องมีขั้นตอนอย่างไร แต่หลักสำคัญคือจะไม่มีการระบาดใหญ่อีกแล้ว ซึ่งตนได้รับข้อมูลยืนยันจากแพทย์โรคติดเชื้อว่าโดยสภาพของการติดเชื้อ ความรุนแรงลดลง แต่การระบาดจะมากขึ้น เพราะเป็นโรคทั่วไป แต่ไม่อันตราย ซึ่งเป็นลักษณะของโรคติดต่อ

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ระบุแนวทางการควบคุมโรคโควิด-19 ด้วยสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่ยังคงสูงขึ้น ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีความจำเป็นจะต้องยกระดับเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 3 เป็นระดับ 4 สำหรับมาตรการควบคุมหลังยกระดับเตือนภัยโควิด-19 ระดับ 4 ทั่วประเทศ ดังนี้

– สถานที่เสี่ยง: ให้ทุกคนงดรับประทานอาหารร่วมกัน และงดดื่มสุราในร้านอาหาร พร้อมงดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท

– การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก: ให้เลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน และงดกิจกรรมการรวมกลุ่มสังสรรค์

– การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด: ให้งดการโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท

– การเดินทางเข้า-ออกประเทศ: ให้งดเดินทางไปต่างประเทศ และหากเดินทางเข้าประเทศต้องกักตัวตามมาตรการ

ส่วนการใช้สิทธิ UCEP ทางด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ยังให้ดำเนินการต่อไปเหมือนช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน จึงเสนอให้เลื่อนการปรับใช้สิทธิ UCEP ออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด

ท้ายนี้ ทางทีมงาน BTimes ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนปลอดภัยปลอดโรคระบาดกันนะคะ สู้ๆ นะ เราจะก้าวผ่านไปด้วยกัน

BTimes