คลังงัดมาตรการรับปีใหม่ ‘Easy E-Receipt’ ช้อปปิ้งลดหย่อนภาษีสูงสุด 5 หมื่นบาท วาดหวังกระชากเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท ระหว่างรอดิจิทัลวอลเล็ต

1119
0
Share:

คลังงัดมาตรการรับปีใหม่ ‘Easy E-Receipt’ ช้อปปิ้งลดหย่อนภาษีสูงสุด 5 หมื่นบาท วาดหวังกระชากเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท ระหว่างรอดิจิทัลวอลเล็ต

ใกล้ถึงสิ้นปีเข้ามาทุกที ถ้านับเวลาถอยหลังก็เหลือแค่ไม่กี่วันเราก็จะได้ก้าวเข้าสู่ปีใหม่กันแล้ว ซึ่งช่วงนี้เราก็จะได้เห็นรัฐบาลทยอยปล่อยมาตรการของขวัญปีใหม่ของแต่ละกระทรวงออกมาเรื่อยๆ แล้วแต่ความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงนั้นๆ ยกตัวอย่างกระทรวงที่ออกสตาร์ทเร็ว ก็เช่น กระทรวงพลังงาน ที่ประกาศตรึงราคาดีเซล LPG ลดค่าไฟงวดใหม่เหลือ 4.2 บาทต่อหน่วย และพยุงกลุ่มเปราะบางที่ 3.99 บาท ตามมาด้วยตรึงราคา NGV ให้กับกลุ่มผู้ใช้ โดยเฉพาะพี่แท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ก็จัดมหกรรมลดราสินค้า เป็นต้น

ล่าสุด กระทรวงการคลังเองก็ได้ออกมาตรการของขวัญปีใหม่ Easy E-Receipt นำค่าใช้จ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศมาลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 5 หมื่นบาท

โดยท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ บอกว่าที่ออกมาตรการนี้ออกมาก็เพราะว่ารัฐบาลเล็งเห็นว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จะล่าช้า จึงต้องมีมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต้นปี ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท กระตุ้นจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.18%

มาตรการ Easy E-Receipt นี้ เป็นการสนับสนุนการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งผลดีต่อการจัดเก็บภาษีในระยะยาว

สำหรับมาตรการดังกล่าวจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่จ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ มาลดหย่อนภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวน 50,000 บาท

<สรรพากรแจงละเอียด เงื่อนไขร่วมโครงการ>
ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ให้ผู้ซื้อสินค้าสังเกตร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ Easy E-Receipt ควบคู่กับ e-Tax Invoice & e-Receipt ซึ่งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

1. กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) พร้อมต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย

โดยค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จะได้รับสิทธิฯ ไม่รวมถึง
(1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
(2) ค่าซื้อยาสูบ
(3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
(4) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
(5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
(6) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
(7) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

2. กรณีการซื้อสินค้าหรือการรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) พร้อมต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วยเฉพาะค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้
(1) ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
(2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
(3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งได้ลงทะเบียนกับ กรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

3. ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการตามข้อ 1 และ 2 เมื่อรวมกันแล้วสามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

<สังเกตร้านที่ร่วมโครงการได้ง่ายๆ>
ปัจจุบันในบ้านเรามีผู้ประกอบการอยู่ในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์แล้วกว่า 4,000 ราย ครอบคลุม 116,000 จุดจำหน่ายทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงคลังจะเร่งดึงดูดผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตั้งเป้าให้ถึงหลักหมื่นราย โดยหลังจากนี้กรมสรรพากรจะออกสัญลักษณ์ของโครงการดังกล่าวให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเพื่อให้ประชาชนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน

<อาจได้รับสิทธิมาตรการรัฐ 2 ต่อ >
สำหรับคนที่ใช้มาตรการ Easy E-Receipt แล้ว แต่ถ้าเข้าเงื่อนไขของหลักเกณฑ์โครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ของรัฐบาล ยังสามารถใช้มาตรการดังกล่าวได้อีกด้วย โดยรัฐบาลกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ 45 วัน เพราะมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากครอบคลุมเทศกาลต่างๆ ตั้งแต่ปีใหม่ไปจนถึงตรุษจีน จูงใจให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

<Easy E-Receipt ต่างจาก ช้อปดีมีคืน 2566 อย่างไร?>
ถ้าจะสังเกตให้ดีๆ ลักษณะของมาตรการ Easy E-Receipt คล้ายกับมาตรการช้อปดีมีคืน 2566 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแตกต่างกันตรงที่ใบกำกับภาษีเต็มรูปที่ใช้ลดหย่อนภาษีจะต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice & e-Receipt เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยต้องระบุชื่อและเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียภาษีเงินได้ ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบกระดาษ หรือใบกำกับภาษีแบบดั้งเดิมได้

<นำไปลดหย่อนได้เมื่อไร? >
หลังจากที่ซื้อสินค้าและบริการที่ร่วมมาตรการ และมีหลักฐานการลดหย่อนภาษีแล้ว ตามมาตรการจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีตามรอบปีภาษี 2567 ช่วงประมาณ 1 มกราคม 2568 ถึงประมาณเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งเป็นช่วงยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2567

สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป (ภ.ง.ด.90) และสำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทเดียว (ภ.ง.ด.91) ส่วนค่าลดหย่อนฯ จะมีช่องค่าซื้อสินค้าและบริการ (รอแบบฟอร์มระบุอีกครั้ง) ให้กรอกตัวเลขจำนวนค่าซื้อสินค้าและบริการที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 จากใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) โดยใช้ตัวเลข “มูลค่าสินค้าที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือ “สินค้าที่มีภาษี 7%” มาบวกรวมกัน

<อย่าสับสนมาตรการในการนำไปลดหย่อนภาษี>
ให้ระวังว่าในปีภาษี 2566 ที่จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงประมาณเดือนมีนาคม 2567 การลดหย่อนภาษีค่าซื้อสินค้าและบริการ จะเป็นมาตรการช้อปดีมีคืน 2566 ใบกำกับภาษีที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้จะต้องออกระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เท่านั้น สามารถลดหย่อนภาษีทั้งรูปแบบกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ได้สูงสุด 30,000 บาท และรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ลดหย่อนเพิ่มได้อีก 10,000 บาท หากนำข้อมูลใบกำกับภาษีที่ออกระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ไปกรอกข้อมูล จะไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ เพราะผิดเงื่อนไข และจะทำให้การขอคืนภาษีเกิดความล่าช้าอีกด้วย เนื่องจากกรมสรรพากรจะใช้เวลาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

เมื่อรู้รายละเอียดของมาตรการ Easy E-Receipt แล้ว ก็ให้บวกลบคูณหารเตรียมคำนวณเงินในกระเป๋ากันให้ดี ว่าถ้าควักเงินจ่ายแล้วจะลดหย่อนให้คุ้มค่าสอดคล้องกับรายจ่ายภาษีที่ต้องเสียมากน้อยแค่ไหน…

BTimes