ใช้จดหมาย! แบงก์ชาติเผยอีก 1 ปี เงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่า 6 เท่าจาก 5 ปีผ่านมา

235
0
Share:
ใช้จดหมาย! แบงก์ชาติ เผยอีก 1 ปี เงินเฟ้อ พื้นฐานสูงกว่า 6 เท่าจาก 5 ปีผ่านมา

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึกเพื่อชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาและประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยระบุว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1 – 3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2565 รวมถึงระบุให้ กนง. มีจดหมายเปิดผนึกหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนั้น

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 6.41% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564 -กันยายน 2565) อยู่ที่ 5.23% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน ประกอบกับ กนง. ได้ประเมินในการประชุมเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12เดือนข้างหน้า (ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ถึง ไตรมาสที่ 3 ปี 2566) จะอยู่ที่ 3.9% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมาย

ดังนั้น กนง. จึงขอเรียนชี้แจงถึง (1) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน (2) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ (3) การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาและประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่ากรอบเป้าหมายจากแรงกดดัน ด้านอุปทาน (cost-push inflation) โดยเฉพาะราคาพลังงานเป็นหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) มีจำกัด ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่ากรอบเป้าหมายตามแรงกดดันด้านอุปทานที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้จะทยอยลดลง ประกอบกับ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนที่มากขึ้นส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 5.23% สูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ได้แก่ (1) ปัจจัยด้านอุปทานจากต่างประเทศ(global supply shocks) ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับสูงขึ้นมาก และมีผลต่อเนื่องให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าปรับขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับฐานที่ต่ำจากมาตรการบรรเทาค่าครองขีพของภาครัฐในปี 2564

ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงที่ 26.76% และ (2) ปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ (domestic supply shocks )ที่เกิดจากโรคระบาดในสุกร ทำให้ราคาเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นมากตามอุปทานที่ลดลง ขณะที่ราคาอาหารสดหมวดอื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์ และปุ้ยเคมีที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.41% และมีการส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นไปยังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานผ่านราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ

โดยอัตราเงินเฟ้อไทยซึ่งเคลื่อนไหวตามแรงกดดันด้านอุปทานเป็นหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมา จาก (1)กำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่เข้มแข็งตามเศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัว (2) ตลาดแรงงานที่เปราะบาง และ (3) หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ยังทำได้จำกัด

สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 3.9% สูงกว่ากรอบเป้าหมายตามแรงกดดันด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่แม้จะทยอยลดลงตามราคาในตลาดโลก แต่ยังอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานจะอยู่ที่ 12.4% และหมวดอาหารสดที่ 1.7%

ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 2.9% โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 0.46% เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นที่ 3.8%ในปี 2566 จะเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงในช่วงก่อนหน้าไปยังราคาสินค้าได้มากขึ้น