คืนชีพเสริมสุข Intergeneration Living เทรนด์การอยู่ร่วมกันของสมาชิกครอบครัวในหลากหลายเจเนอเรชั่น

1514
0
Share:

คืนชีพเสริมสุข Intergeneration Living เทรนด์การอยู่ร่วมกันของสมาชิกครอบครัวในหลากหลายเจเนอเรชั่น

การอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกหลายช่วงวัย (Intergeneration Living) ทั้งปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง สำหรับอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบชนบทอาจเป็นภาพที่แสนชินตา แต่ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์มีความทันสมัย อีกทั้งยังมีการแพร่กระจายข่าวสาร หรือมีนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารสุขภาพเข้ามาเสริมให้ผู้คนมีอายุที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ควบรวมถึงประเทศไทยที่ถูกคาดการณ์โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่าในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้เทรนด์การอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายช่วงวัย (Intergeneration Living) กลับมามีบทบาทอีกครั้ง

ในต่างประเทศเทรนด์ Intergeneration Living ไม่ใช่เทรนด์ใหม่ แต่เป็นเทรนด์ที่มาได้ประมาณ 2-3 ปีแล้ว โดย Resolution Foundation ได้ระบุไว้ในรายงานการวิจัยว่า 1 ใน 5 ของชาวอังกฤษที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี ยังพักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และประมาณ 1.8 ล้านครัวเรือน มีสมาชิกในครอบครัวมากกว่าหนึ่งเจเนอเรชั่นอาศัยอยู่ร่วมกัน ส่วนรูปแบบของครอบครัวไทยเฉลี่ยตามลำดับที่พบมากที่สุด ได้แก่ ครอบครัวเดี่ยวอันประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก 46%, ครอบครัวขยายที่มีคนหลากหลายช่วงวัย 34 %, ครอบครัวเฉพาะสามีและภรรยา 10%, ครอบครัวพึ่งพาที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน 9% และอื่นๆ เช่น มีแต่พี่น้องอีก 1% เมื่อเจาะลึกลงไปก็จะสามารถจำแนกสมาชิกในครอบครัวออกเป็น 4 เจเนอเรชั่นได้ ดังนี้

1. เจเนอเรชั่นบี (Baby Boomer Generation) หรือ “Baby Boomer” หรือผู้สูงอายุ ที่เกิดในช่วง พ.ศ.2489-2507
คนกลุ่มนี้เป็นผลผลิตที่เกิดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และผลกระทบจากความรุนแรงของสงคราม ส่งผลให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้แต่ละประเทศต้องเร่งผลิตประชากร เพื่อมาพัฒนาให้ประเทศเกิดความเจริญ โดยคนรุ่นนี้จะได้รับรู้ถึงความยากลำบากของคนรุ่นก่อน รับรู้ถึงภาวะความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ส่งให้มีความอดทนสูง สู้งาน ชอบทำงานและชอบที่จะประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง รวมถึงยังชอบดำเนินชีวิตตามแบบแผนประเพณีดั้งเดิม

2. เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Generation X) หรือ “Gen-X” หรือคนวัยทำงาน ที่เกิดในช่วง พ.ศ.2508-2522
คนกลุ่มนี้เกิดในช่วงที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความสะดวก ทำให้การใช้ชีวิตมีสีสัน มีตัวเลือก และมีความทันสมัย ก่อให้เกิดความรู้สึกเล็กๆ ในใจว่าทำไมชีวิตต้องอดทน ในเมื่อมีโอกาสและตัวเลือกมากขึ้น รวมถึงมีพฤติกรรมที่รักอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าที่จะหลุดจากกรอบเดิมๆ

3. เจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) หรือ “Gen-Y” หรือคนที่พึ่งเรียนจบใหม่และเริ่มทำงาน ที่เกิดในช่วง พ.ศ.2523-2540
คนกลุ่มนี้เกิดมาพร้อมกับยุคที่เทคโนโลยีมีความล้ำหน้าและทันสมัยสูง รวมทั้งมีองค์ความรู้มากมายที่พร้อมจะให้สืบค้น พร้อมเปิดรับการเรียนรู้และวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ มีความมั่นใจและเป็นตัวของตัวเองสูง รวมถึงกล้าทำในสิ่งที่รัก มีความอดทนต่อแรงกดดันน้อยลง และกล้าปฏิเสธมากขึ้น

4. เจเนอเรชั่นซี (Generation Z) หรือ “Gen-Z” ที่เกิดในช่วง พ.ศ.2540 ขึ้นไป
คนกลุ่มนี้เกิดมาในยุคเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนดิสรัปทุกอย่างรอบตัวอย่างสมบูรณ์ ทำให้มีความคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยี สามารถเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ ทำหลายสิ่งในเวลาเดียวกันได้ รักอิสระ และมักค้นหาความชอบที่สร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้กับตนเองและคนรอบข้าง รวมถึงชอบความสะดวกสบาย และไม่เป็นพิธีทางการมากนัก

นอกจากความแตกต่างของทั้ง 4 เจเนอเรชั่นที่กล่าวมาข้างต้น ได้มีข้อมูลเชิงลึกที่ทางสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศที่มีอายุระหว่า 15-65 ปี จำนวน 400 คนไปเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 พบว่า กลุ่มตัวอย่างสูงถึง 70.8% ต้องการอยู่อาศัยในบ้านที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายรุ่น ซึ่งครอบครัวในลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ยังพบข้อดีของการอยู่ร่วมกันของคนในหลากหลายช่วงวัย (Intergeneration Living) ว่าเป็นการทำให้เกิดความรักความอบอุ่นในครอบครัว โดยมีผู้สูงอายุเป็นเสาหลักและเป็นศูนย์รวมจิตใจ อีกทั้งยังถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงทำให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ทำหน้าที่ดูแลซึ่งกันและกัน อันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวได้ ซึ่งในงานวิจัยยังได้บอกเพิ่มเติมว่ากลุ่มตัวอย่างที่อยู่อาศัยแบบครอบครัว 3 รุ่น มีค่าเฉลี่ยสุขภาพจิตดีกว่าครอบครัวแบบอื่นเกือบทุกด้าน ด้วยเหตุผลว่าสมาชิกในครอบครัวมีความรักและผูกพันต่อกัน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเมื่ออยู่ในครอบครัว

ดังนั้น การอยู่ร่วมกันแบบหลากหลายช่วงวัยไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่เป็นเพียงการกลับคืนสู่รากฐานแห่งความสุขที่แท้จริงของคำว่า “ครอบครัว” ที่เราคุ้นเคยอีกครั้ง… อย่างไรก็ตาม ลองละสายตาจากงานที่ทำอยู่สักนิด แล้วหันไปบอกรักคนในครอบครัวกันด้วยนะคะ สุดท้ายนี้ทีมงาน BTimes ขอขอบพระคุณทุกการตอบรับที่ดี BTimes รักทุกคนนะคะ ^^

BTimes