กกพ.เผยแนวโน้มค่าไฟฟ้างวดใหม่ ม.ค.-เม.ย. 67 ส่อแววขยับขึ้นเฉลี่ยทะลุ 4 บาท/หน่วย

596
0
Share:
กกพ.เผยแนวโน้ม ค่าไฟฟ้า งวดใหม่ ม.ค.-เม.ย. 67 ส่อแววขยับขึ้นเฉลี่ยทะลุ 4 บาท/หน่วย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวดม.ค.-เม.ย. 2567 จากการติดตามตัวเลขต่างๆ เบื้องต้นมีแนวโน้มจะปรับขึ้นจากงวดก.ย.-ธ.ค.66 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย จากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า และราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ที่ยังคงตัวระดับสูง 17-18 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งคงจะต้องติดตามปัจจัยราคาพลังงานตลาดโลกใกล้ชิด ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

โดยนายคมกฤช กล่าวว่าแม้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะต่ำ แต่ราคาก็มีการปรับตามปัจจัยต่าง ๆ อาทิ อัตราแลกเปลี่ยน ที่จะทำให้ ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ตรงนี้อาจจะไม่มากแต่ก็มีผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้นระดับ 5-10 สตางค์ ขณะที่ก๊าซฯในแหล่งเอราวัณเอง ยังคงอิงการผลิตที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันยังไม่ได้กลับมาตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่ 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในปลายปีนี้ ดังนั้นหากราคาLNG นำเข้าไม่แพงก็จะไม่กระทบมากนักแต่หากสงครามอิสราเอลกับฮามาส บานปลาย ก็จะยิ่งกระทบกับราคาแน่นอน และถ้าแหล่งเอราวัณหายไปจะต้องดูว่าช่วงต้นปี 2567 จะต้องนำLNGเข้ามาเท่าใดด้วยหากนำเข้าไม่มากก็จะกระทบต่ำ

สำหรับ ตัวเลขตามหลักเกณณ์ที่จะคำนวณค่าFtงวดม.ค.-เม.ย. 2567 ปกติจะต้องส่งให้การไฟฟ้าเพื่อประกาศก่อนวันที่ 1 ธ.ค. 2566 ดังนั้น จะต้องนำเข้าคณะกรรมการ กกพ. ในเดือน พ.ย. 2566 ยกเว้นแต่ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีนโยบายเพิ่มเติม เพราะราคาสุดท้ายคงอยู่หลายปัจจัยโดยเฉพาะนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาล และการบริหารจัดการจำเป็นต้องพิจารณาหนี้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แบกรับไว้ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ว่าจะไหวหรือไม่และจะช่วยได้อีกเท่าไหร่

“อยากให้ประชาชนดูข้อเท็จจริงว่าค่าไฟฟ้าแพงขึ้นมาจากอะไร เพราะเราต้องนำเข้าก๊าซฯ จากต่างประเทศเป็นหลัก จึงอยากให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟ ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายมาดูแลต่อต้นทุนที่แท้จริงก็จะอยู่ที่กว่า 4 บาท/หน่วย ขณะเดียวกันกฟผ.เองก็แบกภาระไว้ รวมถึงการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยืดหนี้ราคาค่าก๊าซฯ ด้วย ดังนั้น จึงต้องอยู่ที่นโยบายภาครัฐ เพราะในอดีตไม่เคยมีนโยบายมาดู เพราะต้นทุนเมื่อบวกลบแล้วไม่เคยเกิน 3-4 สตางค์ต่อหน่วย แต่ปัจจุบันมีปัญหาปริมาณก๊าซฯ ที่หายไป และภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ราคาวิ่งไปสูงกว่าอดีตอย่างมาก”