กรมการค้าภายในยันราคาเนื้อหมูตลาดสดทั่วประเทศลดลงจริง เหลือแค่ 170-180 บาท

688
0
Share:

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า ณ ตลาดเวิลด์มาร์เก็ต เขตทวีวัฒนา หลังเทศกาลตรุษจีน เพื่อตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะเนื้อหมู เนื้อไก่และไข่ ว่า จากที่ได้รับรายงานเจ้าหน้าที่สายตรวจเฉพาะกิจกระทรวงพาณิชย์ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศราคาสินค้าสำคัญมีแนวโน้นปรับลดลงเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหมูเนื้อแดงอยู่ที่ 170-180 บาทต่อกิโลกรัม แยกเป็นสะโพกอยู่ที่ 175 บาทต่อกิโลกรัม ไหล่อยู่ที่ 160 บาทต่อกิโลกรัม สันในอยู่ที่ 190 บาทต่อกิโลกรัม สันนอกอยู่ที่ 185 บาทต่อกิโลกรัม สามชั้นอยู่ที่ 200 บาทต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม ราคาเนื้อหมูที่เริ่มปรับลดลงดังกล่าวสืบเนื่องจากความร่วมมือของภาครัฐที่ร่วมกันตรวจสตอกปริมาณหมูทั่วประเทศ ทำให้ทราบปริมาณเนื้อหมูในระบบเหลือจริงมากน้อยแค่ไหน ประกอบกับสตอกหมูที่เก็บอยู่กลับเข้าสู่ตลาดอย่างเพียงพอ ทำให้ขณะนี้ราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์มปรับลงเหลือต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม และคาดว่าราคาเนื้อหมูจะปรับลดลงตามต้นทุนที่แท้จริงเร็ว ๆ นี้ และยังได้รับรายงานไม่เพียงแต่เนื้อหมูในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ลดลงเท่านั้น โดยราคาเนื้อหมูในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศเฉลี่ยเริ่มลดลงมาอยู่ที่ 200 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งก่อนช่วงตรุษจีนราคาเนื้อหมูสูงถึง 250-300 บาทต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ ราคาไก่สดเฉลี่ยอยู่ที่ 65-80 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนไข่ไก่เบอร์ 3 แผงละ 100 บาท โดยไม่รวมค่าแผงกระดาษ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 3.33 บาท โดยราคาอยู่ในเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล ส่วนราคาผักส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับปกติ เช่น ผักคะน้า กิโลกรัมละ 25 บาท ผักกาดขาว กิโลกรัมละ 20 บาท ผักบุ้งจีน กิโลกรัมละ 20 บาท ผักชี 130 บาทกิโลกรัมละ เป็นต้น

ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นยอมรับว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านการขนส่งบ้าง แต่เท่าที่ได้ติดตามยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นขอปรับเพิ่มราคาสินค้าขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเวลานี้ ยอมรับว่ายังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่จากการขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการผลิตและห้างค้าส่งค้าปลีกต่าง ๆ ยังคงจำหน่ายอยู่ในราคาที่เหมาะสม เฉลี่ยขวดละ 59-62 บาท โดยราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวสูงขึ้นก่อนหน้านี้เกิดจากประเทศผู้ผลิตหลักอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียประสบปัญหาในเรื่องของโควิด-19 ทำให้แรงงานแทงปาล์มขาดแคลน ส่งผลกับปริมาณน้ำมันปาล์มในตลาดและการผลิตปาล์มในประเทศลดลง และในเดือนกุมภาพันธ์นี้ประเทศไทยผลปาล์มทะลายของเกษตรกรกำลังเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นแล้ว ประกอบกับสถานการณ์การผลิตน้ำมันปาล์มในตลาดโลกเริ่มดีขึ้น เชื่อว่าราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดจะสามารถอ่อนตัวลงได้