ศึกสหรัฐ-อิหร่าน ไม่เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย

923
0
Share:

นายปณิธาน วัฒนายากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านว่า ความตึงเครียดของทั้งสองประเทศ เป็นเรื่องที่หลายประเทศคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่ไม่คิดว่าจะปะทุขึ้นอย่างรุนแรงในระดับนี้ ส่วนแนวโน้มที่จะลุกลามกลายเป็นสงครามอ่าวเปอร์เซียนั้น นักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่าเป็นไปได้น้อย สาเหตุนั้นค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งอาจมาจากปัจจัยภายในที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของสหรัฐฯ รวมไปถึงเป็นโอกาสของหลายฝ่ายที่จะเข้าแทรกแซงสหรัฐฯ และสหรัฐฯเองเปิดประเด็นในด้านนานาชาติเรื่องการกระตุ้นคะแนนเสียง ซึ่งหากประเมินจากข้อเท็จจริงจะทราบในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หากผลสำรวจความเห็นประชาชนสะท้อนว่าเป็นผลดีต่อสหรัฐฯ หรือสหรัฐต้องการให้หลายฝ่ายเห็นว่าการพยายามเข้าแทรกแซงสหรัฐฯจนคะแนนเลือกตั้งพลิกผันนั้นไม่ได้ผล
.
โดยพื้นฐานความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน คืออิหร่านเป็นประเทศที่เติบโตมากขึ้น ซึ่งมีผลพวงมาจากประเทศอิรักซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่รบหลัก อิหร่านจึงมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ทหาร จนถูกกล่าวหาว่ามีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และนำไปสู่การคว่ำบาตร นอกจากนี้สหรัฐฯเองมองว่าอิหร่านมีความสามารถในการพัฒนากองกำลังจนมีขีดความสามารถปิดอ่าวเปอร์เซียได้ จนทำให้อิหร่านกลายเป็นเป้าที่ถูกเพ่งเล็ง และนำไปสู่การสังหารกลุ่มผู้นำทางทหารที่เป็นปรปักษ์กับกลุ่มสหรัฐฯ
.
ซึ่งการกระทบกระทั่งครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศความสงบสุขโดยรวมของตะวันออกกลาง และของโลกในระยะสั้น ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การลงทุน ส่วนในระยะกลางและระยะยาวจะเป็นอย่างไร ต้องดูการตอบโต้ และการเฝ้าระวัง ซึ่งขณะนี้หลายประเทศโดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีการสั่งการให้เฝ้าระวังกลุ่มผลประโยชน์ของสหรัฐ รวมไปถึงตัวบุคคลเพื่อไม่ให้เป็นเป้า ขณะเดียวกันกลุ่มพันธมิตรของอิหร่าน จะพยายามหาทางในการตอบโต้กับสหรัฐในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
.
โดยสิ่งที่น่ากังวลที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน นักวิชาการอ่านวิเคราะห์ตรงกันว่าอาจไม่เกิดสงครามขนาดใหญ่เนื่องจากขีดความสามารถทางกองกำลังทางทหารของสหรัฐฯเหนือกว่าอิหร่านหลายสิบเท่า ซึ่งอิหร่านน่าจะไม่เลือกใช้วิธีการเผชิญหน้ากับสหรัฐโดยตรง รวมไปถึงใช้วิธีการปิดอ่าวเปอร์เซีย ถึงแม้จะมีศักยภาพแต่สหรัฐฯก็สามารถที่จะเปิดเอาได้ในไม่กี่วัน ซึ่งความเป็นไปได้มากที่สุดในการโต้ตอบของอิหร่านนั้นน่าจะเป็นการโต้ตอบทางการทูต หรือการเมือง และกลุ่มใฝ่ทางการเมืองทางความรุนแรงต่างๆ โจมตีกลุ่มเป้าหมายที่อ่อนแอของสหรัฐฯทั่วโลก

ส่วนประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ในเรื่องการเมืองและความรุนแรง เนื่องจากทั้งสหรัฐฯและอิหร่านเป็นมิตรต่อไทย แต่อาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ ส่วนการเข้าออกของประชาชนทั้งสองประเทศ คงต้องมีการดูแลตามระบบ แต่ไม่มีการเฝ้าระวังหรือยกระดับอย่างในหลายประเทศ แต่คงต้องเฝ้าระวังจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายมากกว่านี้ แต่หากมีการแจ้งเตือนกลุ่มผู้ต้องสงสัยเข้าประเทศอาจต้องมีการคัดกรองบุคคลเป็นพิเศษ