กสทช. ขู่ตัดสัญญาณทีวีดิจิตอล หากเนื้อหาไม่เหมาะสม

909
0
Share:

ในวันนี้ทางสำนักงาน กสทช. ได้เชิญผู้ประกอบการและสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการนำเสนอข่าว และข้อมูลเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ปรากฏว่าสื่อมวลชนบางรายได้นำเสนอรายการข่าวด้วยรูปแบบการรายงานสด // live สด // รายงานสถานการณ์ และข้อมูลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การรายงานข่าวแบบต่อเนื่อง การรายงานข่าวเหตุการณ์ซ้ำกันหลายครั้ง เป็นต้น
.
ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความปลอดภัยและความตึงเครียดของสังคมและประชาชนในบริเวณโดยรอบ ตลอดจนผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน และอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้
.
ดังนั้นพลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ระบุว่า การนำเสนอข่าวและข้อมูลเหตุการณ์ดังกล่าวจำเป็นที่สื่อมวลชนต้องมีองค์ความรู้ในการพิจารณาคัดกรองข้อมูลและข้อเท็จจริงที่สมควรแก่การนำเสนอ
.
หากสื่อมวลชนนำเสนอข่าวและข้อมูลโดยขาดองค์ความรู้ การนำเสนอข่าวนั้น อาจเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงทำให้ผู้กระทำความผิดทราบถึงแผนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ นอกจากนี้อาจส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น ทำให้ผู้กระทำความผิดกลายเป็น “ฮีโร่” และอาจทำให้เด็กและเยาวชนซึมซับเรื่องความรุนแรงเห็นเป็นเรื่องปกติ ส่งผลกระทบต่อวิธีคิดและพฤติกรรมในระยะยาว
.
ดังนั้นกสทช. จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำเสนอข่าวและข้อมูลที่เกิดขึ้น จึงจะจัดทำแนวทางการนำเสนอข่าวและข้อมูลในลักษณะดังกล่าวในระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
.
ด้วยการจัดทำร่างหลักเกณฑ์การปฏิบัติและแนวทางการนำเสนอข่าวในภาวะวิกฤต ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งมีมาตรการลงโทษที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น การระงับการออกอากาศรายการในทันทีที่เห็นว่ารายการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยของประชาชน ตลอดจนผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน พร้อมทั้งจัดทำบทลงโทษด้านอื่นๆ
.
ซึ่งปัจจุบัน กสทช.มีบทลงโทษตาม มาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 โดยบทลงโทษจะเริ่มเบาไปหนัก ตั้งแต่ ตักเตือน ปรับ พักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการ จนถึงเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ หากผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษ สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้
.
ส่วนการรายงานสดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ กสทช.ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแล แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส
.
แต่ในวันที่ 18 ก.พ.2563 กสทช.เตรียมเรียกผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลบางราย จำนวน 2 – 3 ราย มาชี้แจงข้อมูลการรายงานสดเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น