ก่อสร้างฮึบ! ก่อสร้างในไทยปีเสือขยายตัวแคบๆ โต 4% ถึงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท

308
0
Share:

ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ หรือ EIC เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศไทยในภาพรวมปี 2565 จะขยายตัว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564 ประกอบด้วย มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐ ยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 6% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา แตะระดับ 853,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากทั้งความคืบหน้าของโครงการเมกะโปรเจกต์ที่มีการก่อสร้างต่อเนื่องจากในอดีต เช่น รถไฟฟ้าสีส้มตะวันออก, สีชมพู, สีเหลือง, รถไฟทางคู่ เฟส 1, มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รันเวย์ที่ 3, ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง สัญญา 1 และ 3 รวมถึงการเริ่มก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟฟ้าสีม่วงใต้, สีส้มตะวันตก รถไฟทางคู่สายเหนือ และสายอีสาน รวมถึงมอเตอร์เวย์/ทางด่วนต่างๆ

ด้านมูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยที่ 1% เทียบดับช่วงเดียวกันในปี 2564 มาอยู่ที่ 567,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของมูลค่าการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบ ตามการฟื้นตัวของหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ ในส่วนของมูลค่าการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในกลุ่มอาคารสำนักงานมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย ขณะที่พื้นที่ค้าปลีกมีแนวโน้มขยายตัวไปตามการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ที่ยังมีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ในปี 2565 ผู้ประกอบการก่อสร้างเผชิญความท้าทายจากต้นทุนก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น ทั้งต้นทุนแรงงาน และวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล็ก และปูนซีเมนต์

ด้านปัจจัยแรงงานก่อสร้างนั้น ผู้ประกอบการก่อสร้างเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยจำนวนแรงงานต่างชาติในภาคก่อสร้างลดลงตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 และยังไม่กลับมาสู่ระดับเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาด ในขณะที่ปัจจัยต้นทุนก่อสร้างนั้น ราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นไปตามราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็ก และปูนซีเมนต์ จากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก่อสร้างกลุ่มต่างๆ ได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลางจะเป็นผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างภาครัฐที่ทำสัญญาแบบปรับราคาได้ ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยจากการคำนวณค่า K1 และผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างภาคเอกชนที่ทำสัญญาให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้าง ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงจะเป็นผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างภาครัฐที่ไม่ได้ทำสัญญาแบบปรับราคาได้ ซึ่งจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากการคำนวณค่า K และผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างภาคเอกชนที่ทำสัญญาเป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้างเอง