ของจีนราคาสุดถูกระบายตีตลาดในไทย สะเทือนไทยขาดดุลการค้าจีนแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท

93
0
Share:
ของจีนราคาสุดถูกระบายตีตลาดใน ไทย สะเทือนไทย ขาดดุลการค้า จีน แล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า ผู้ผลิตในประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากสินค้านำเข้าจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาในตลาดของประเทศไทย การปรับตัวของโครงสร้างภาคผลิตไทยทำได้ช้าจึงแข่งขันได้ยาก จากข้อจำกัดในเรื่องห่วงโซ่อุปทานในแต่ละอุตสาหกรรม และลักษณะเฉพาะด้านโครงสร้างธุรกิจ อีกทั้งการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว

ในทางกลับกัน สินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้าจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่มีข้อได้เปรียบจากราคาถูกตามการประหยัดต่อขนาด หรือหลักการผลิตแบบ Economies of Scale รวมถึงการฉกฉวยข้อได้เปรียบจากระเบียบการยกเว้นภาษีขาเข้าศุลกากรของไทย ส่งผลให้ประเทศไทยนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยสูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 20% ของมูลค่านำเข้าจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ผู้ค้าในประเทศไทยก็เริ่มเผชิญข้อจำกัดจากการที่กลุ่มทุนธุรกิจ หรือเอกชนจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาทำตลาดในประเทศโดยตรง หากพิจารณาตัวเลขหมวดย่อยการเติบโตทางเศรษฐกิจในฝั่งการผลิต พบว่า กิจกรรมภาคการค้าปลีกค้าส่งในปี 2566 ขยายตัวได้ดีถึง 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ซึ่งสวนทางกับกิจกรรมในภาคการผลิต (Manufacturing) ที่หดตัว 3.2% ซึ่งส่วนหนึ่งจากความนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้มูลค่าตลาดค้าปลีกออนไลน์ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้ระยะหลัง ผู้ค้าในประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญการแข่งขันที่ยากลำบากขึ้นจากการทำตลาดเองโดยตรงของผู้ผลิตและผู้ค้าสัญชาติจีนที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวไทยได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ชี้ว่า ผู้ประกอบการในประเทศอาจต้องเผชิญการแข่งขันในประเทศที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงที่สถานการณ์สินค้าจีนทะลักไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั้งปริมาณและการกระจายสินค้าไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ มากขึ้น เป็นผลพวงของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวและด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงกว่าในอดีตจากผลกระทบของวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ภาคการผลิตจีนยังคงรักษาอัตรากำลังการผลิตในระดับสูงเพื่อคงระดับการจ้างงานในประเทศต่อไป จึงเกิดเป็น “ภาวะการผลิตมากเกินไป” (Overproduction)

ขณะที่ผู้ผลิตจีนก็มีข้อจำกัดทางการค้าจากประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น ทำให้ไม่สามารถระบายสินค้าไปยังคู่ค้าหลักเดิมอย่างสหรัฐฯ ได้เหมือนในอดีต ส่งผลให้จีนปรับเปลี่ยนการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนซึ่งได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้งที่ใกล้เคียงเพิ่มขึ้น

สอดคล้องกับตัวเลขมูลค่าส่งออกจีนไปตลาดอาเซียนขยายตัวเร่งขึ้นในระยะหลัง จนทำให้สัดส่วนส่งออกไปตลาดอาเซียนในปัจจุบันใหญ่กว่าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เช่นเดียวกับไทยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 9.2% ในช่วงปี 2563-2566 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงสุดเมื่อเทียบกับคู่ค้าสำคัญหรือขาดดุลการค้าราว 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.33 ล้านล้านบาทในปี 2566