คณะอนุกรรมการ กบอ.คาดลงนามพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา – เมืองการบินภาคตะวันออก เดือนพ.ค.นี้

572
0
Share:

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาพตะวันออก (กบอ.) ว่าที่ประชุมได้พิจารณาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยมีมติให้เร่งนำเสนอคณะกรรมการนโยบาย ฯ (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเร็วที่สุด และคาดว่าจะมีการลงนามสัญญากับเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมลงทุนได้ภายในเดือนพ.ค.นี้
.
ทั้งนี้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ใช้เงินลงทุน 2.9 แสนล้านบาท โดยรัฐจะมีรายได้จากภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 60,000 ล้านบาท (ไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก) และทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,640 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก
.
อย่างไรก็ตามได้วางยุทธศาสตร์สำคัญใน 3 ภารกิจ คือ 1.เป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3”เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง 2.เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation”ของ อีอีซี
.
3.เป็นศูนย์กลางของ“มหานครการบินภาคตะวันออก”ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 กิโลเมตร(ก.ม.) โดยรอบสนามบิน (เมืองพัทยา ถึง ตัวเมืองระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของการพัฒนา Eastern Seaboardที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้ง ทางน้ำ (เรือและท่าเรือ) ทางบก (ทางด่วน รถไฟ และ รถไฟความเร็วสูง) และทางอากาศ (สนามบิน)
.
นอกจากนี้วางเป้าหมาย 6 กิจกรรมสำคัญ คือ 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 //2.ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน// 3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน // 4.เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง // 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ และ 6.ศูนย์ฝึกอบรมการบิน
.
ด้านพลเรือตรี เกริกไชย วจนาภรณ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก กล่าวว่า สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) (กลุ่มบีบีเอส) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสนอผลประโยชน์สูงสุดในโครงการนี้ และคณะกรรมการคัดเลือกฯได้เห็นชอบผลการเจรจากับกลุ่ม BBSโดยจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป