คนไทยชี้มาตรการเยียวยา”ยิ่งใช้ยิ่งได้” ไร้ผลสิ้นเชิง

334
0
Share:

คนไทยชี้มาตรการเยียวยา”ยิ่งใช้ยิ่งได้” ไร้ผลสิ้นเชิง ยังห่วงภาวะครองชีพย่ำแย่ต่อเนื่อง แม้คลายล็อกแต่เศรษฐกิจไทยไม่แน่นอนสูง
.
ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เดือนสิงหาคม 2564 ครัวเรือนยังคงกังวลกับภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ ซึ่งสะท้อนจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ซึ่งอยู่ที่ 33.0 ต่ำกว่าระดับในช่วงล็อกดาวน์ทั้งประเทศเมื่อปี 2563 โดยครัวเรือนส่วนใหญ่มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมภาระหนี้ นอกเหนือจากความกังวลด้านรายได้และการจ้างงาน
.
อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้าง 9 กลุ่มอาชีพ และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เริ่มทรงตัวในช่วงปลายเดือน ส่งผลให้ดัชนี KR-ECI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 33.8 ในเดือนกรกฎาคมมาอยู่ที่ 35.5 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่บ่งชี้ว่าภาพรวมครัวเรือนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะการครองชีพในอนาคต
.
จากการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ พบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่ามาตรการลดค่าน้ำค่าไฟช่วยเยียวยาผลกระทบได้บ้าง (63.8%) ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากมาตรการดังกล่าวเข้าถึงครัวเรือนทุกกลุ่มโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขหรือการลงทะเบียน ขณะที่มาตรการที่ไม่มีผลในการช่วยเยียวยาผลกระทบและไม่เข้าร่วมคือมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ (82.8%) เนื่องจากมาตรการดังกล่าวออกมาในช่วงที่สถานการณ์ระบาดยังไม่รุนแรงและยังไม่มีมาตรการคุมเข้มการระบาด
.
แม้ในช่วงต้นเดือนกันยายน จะมีการคลายล็อกมาตรการคุมเข้มใน 29 จังหวัดสีแดงเข้มแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในระยะข้างหน้าของครัวเรือนยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งในส่วนของตลาดแรงงานที่ยังมีแนวโน้มเปราะบางจากภาวะการจ้างงานในภาคบริการ นอกจากนี้สถานการณ์การระบาดที่ยังมีความเสี่ยง จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในระดับสูง อัตราการฉีดวัคซีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำอาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่
.
ดังนั้นความไม่แน่นอนจากโรคระบาดจะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคเศรษฐกิจต่อเนื่อง มาตรการเยียวยาที่ตรงจุด เข้าถึงได้ง่ายและครอบคลุม รวมถึงการตรวจเชิงรุก การจัดหาและการเร่งฉีดวัคซีนจึงยังคงจำเป็นต่อการบรรเทาสถานการณ์การระบาดและสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเศรษฐกิจ