คนไทยออมลดลง กว่า 72% ออมน้อย แถมเริ่มออมช้า-ออมตอนอายุมากแล้ว ส่งผลให้มีเงินไม่พอ

305
0
Share:
คน ไทย ออม ลดลง กว่า 72% ออมน้อย แถมเริ่มออมช้า-ออมตอนอายุมากแล้ว ส่งผลให้มีเงินไม่พอ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านการออมในประเทศไทยในปัจจุบัน จากการสำรวจพบว่า กว่า 72% ของครัวเรือนไทยมีการออมเงิน แต่มูลค่าการออมไม่สูง และเริ่มออมตอนมีอายุค่อนข้างสูงแล้ว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 42 ปี

ขณะเดียวกัน มูลค่าการออมเฉลี่ยก็มีแนวโน้มลดลง จากในปี 2558 มูลค่าการออมเฉลี่ยอยู่ที่ 194,427 บาทต่อครัวเรือน ลดลงเหลือ 143,844 บาทต่อครัวเรือน ในปี 2564 ส่งผลให้ 86% ของครัวเรือนไทยมีเงินออมไม่เพียงพอในการใช้จ่ายในเวลา 1 ปี ซึ่งในกรณีที่การออมที่เป็นตัวเงินอาจจะมีข้อจำกัด จากเรื่องค่าครองชีพ หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในครัวเรือน

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ปลดล็อกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้ไม้มีค่า/ไม้หายากถึง 171 ชนิดสามารถนำมาปลูกและตัดขายได้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นรายได้ส่วนหนึ่งสำหรับครัวเรือนได้ โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรกรที่สามารถใช้ที่ดินส่วนที่เหลือจากการใช้ประโยชน์มาปลูกไม้มีค่าได้ โดยยกตัวอย่างเช่น ปลูกไม้มีค่าประมาณ 10 ปีตัดขาย ผลตอบแทนจะอยู่ที่ประมาณ 17.9% ลงทุนก็ไม่มาก เพียงซื้อกล้าไม้มาปลูก

อย่างไรก็ดี ต้องมีการสร้างแรงจูงใจและปรับปรุงกฎระเบียบบางประการ อาทิ การเคลื่อนย้ายไม้ เป็นต้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ไม่ติดขัด ขณะเดียวกันที่ผ่านมาแม้จะมีการแก้ไขกฎหมายให้สามารถนำไม้มีค่า 58 ชนิดมาเป็นหลักค้ำประกันธุรกิจขอสินเชื่อได้ แต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก ซึ่งคงต้องปรับปรุงกันต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการออมทางเลือกที่ไม่ใช่ตัวเงินอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือการเลี้ยงสัตว์ โค/กระบือ อย่างที่เห็นตัวอย่างในจังหวัดพิจิตรและสุโขทัย ที่มีการส่งเสริมการเลี้ยงโค/กระบือในครัวเรือนเกษตรกรที่นอกเหนือไปจากการทำการเกษตรที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเลี้ยงไปได้ 5 ปีขึ้นไปจะขายได้ตัวละ 25,000-50,000 บาท ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ไม่ได้สูง เพราะสามารถปล่อยให้โค/กระบือหากินตามธรรมชาติได้ แถมยังช่วยกำจัดวัชพืช ช่วยในการเตรียมการเพาะปลูกสำหรับเกษตรกร และยังสามารถเก็บมูลขาย หรือทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย

ทั้งนี้ สศช. ได้เสนอแนวทางการส่งเสริมและขยายผล สำหรับการออมที่ไม่ใช่ตัวเงิน ด้วยการปลูกไม้มีค่า และ เลี้ยงสัตว์ โค/กระบือ 4 แนวทางด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ 2.ส่งเสริมกลไกความร่วมมือของคนในชุมชน 3.สร้างความรู้ ความเข้าใจ และให้คำปรึกษากับเกษตรกรในพื้นที่ และ 4.ปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องและไม่เป็นอุปสรรคต่อการออมในรูปแบบนี้