คนไทย 19 ล้านคนกว่า 40% มีปัญหานอนไม่หลับ ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน 70% หนุนเศรษฐกิจการนอน

226
0
Share:
คนไทย 19 ล้านคนกว่า 40% มี ปัญหานอนไม่หลับ ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน 70% หนุนเศรษฐกิจการนอน

นายแพทย์พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม W9 Wellness Center เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหานอนไม่หลับขึ้นแท่นปัญหาสุขภาพระดับโลก สาเหตุจากปัจจัยที่หลากหลาย ทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก อาทิ เสียงดังรบกวน สว่างเกินไป หรือคับแคบเกินไป ทำให้นอนหลับยาก และปัจจัยภายในจากการเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานในร่างกาย ทั้งความเครียด อาการวิตกกังวล แรงกดดัน หรือการเจ็บป่วย เช่น ปวดท้อง ปวดตามเนื้อตัว อาการไอ และปัญหาโรคอ้วน ทำให้มีปัญหานอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ได้รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายไม่เพียงพอ เกิดภาวะนอนไม่หลับ เป็นต้น ส่งผลให้เทรนด์ตลาดโลกเปลี่ยน

ล่าสุด Statista แพลตฟอร์มออนไลน์เชี่ยวชาญด้านงานวิจัยและเก็บสถิติชั้นนำคาดการณ์มูลค่าตลาด “เศรษฐกิจการนอน” รวมทั่วโลกในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตถึง 585,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโต 35% จากปี 2562 ซึ่งเป็นทิศทางสอดรับกับภาพรวมเทรนด์ตลาดสุขภาพประเทศไทย โดยรายงานของกรมสุขภาพจิตพบว่า คนไทยเผชิญปัญหานอนไม่หลับมากถึง 40% ของประชากร หรือราว 19 ล้านคน โดยจากตัวเลขดังกล่าว เฉลี่ยพบว่าเป็นกลุ่มที่นอนหลับยาก 30% และเป็นกลุ่มคนทำงานจำนวนสูงถึง 70% คาดแนวโน้มจำนวนผู้มีปัญหาในการนอนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานและวัยรุ่น

ทั้งนี้ จากภาพรวมและแนวโน้มความต้องการในตลาดชี้ให้เห็นว่า เทรนด์สุขภาพที่เกี่ยวกับตลาด “เศรษฐกิจการนอน” เป็นหนึ่งเซ็กเมนต์ในกลุ่มธุรกิจ Wellness ที่น่าจับตาในปัจจุบันและอนาคต ด้วยอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุด W9 Wellness ศูนย์การแพทย์แบบองค์รวม แบ่งโรคนอนไม่หลับออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มปัญหาการนอนหลับตามระยะเวลาที่เกิดโรค และกลุ่มปัญหาการนอนหลับที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของการนอน

(ต่อ)

โดยกลุ่มแรก ได้แก่ โรคนอนไม่หลับจากปัญหาการปรับตัว หรือ Adjustment Insomnia มักเกิดจากความตื่นเต้น ความเครียด ปัญหาวิตกกังวล มักมีอาการนอนไม่หลับไม่กี่คืน และมีอาการดังกล่าวน้อยกว่า 3 เดือน เมื่อเหตุปัจจัยข้างต้นหายไป ก็สามารถกลับมานอนหลับได้เป็นปกติ และโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง หรือ Chronic insomnia ซึ่งอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หรือการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติในระหว่างการนอนหลับ โดยมีอาการนานมากกว่า 1 เดือน มักจะกังวลกับการนอนหลับของตนเอง หรืออาจเพราะการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติในระหว่างการนอนหลับ ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่มีปัญหาการนอนในแต่ละช่วงเวลา ได้แก่ Initial insomnia หรือ ภาวะที่คนไข้ที่ใช้เวลานานกว่าจะหลับ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับความเครียด ภาวะวิตกกังวล Maintenance insomnia หรือ ภาวะที่สะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยๆ ไม่สามารถนอนหลับได้ยาว ซึ่งอาจสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพ การหยุดหายใจขณะหลับ หรือการเสียสมดุลของระบบฮอร์โมน และ Terminal insomnia หรือภาวะตื่นเร็วกว่าเวลาอันควร ซึ่งอาจสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า หรือโรคความเสื่อมที่ส่งผลถึงนาฬิกาชีวิต

W9 Wellness แนะกลยุทธ์ปรับ “นาฬิกาชีวิต” แก้ปัญหาการนอนที่ต้นเหตุ เน้นความสำคัญกับมิติของความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจ ผ่านการปรับสมดุลสุขภาพ เช่น การปรับสมดุลฮอร์โมน สมดุลสารสื่อประสาทที่สัมพันธ์กับอารมณ์ ความเครียด และวงจรการนอนหลับ เพื่อการนอนหลับที่มีคุณภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ดี แกนหลักสำคัญแก้ไขปัญหาการนอนควรแก้จากต้นเหตุ ควบคู่กับการรักษาสมดุลสุขภาพกายและสุขภาพใจ ย้ำการรักษาทางการแพทย์แบบองค์รวมช่วยแก้ไขปัญหาการนอนหลับเชิงลึกในทีละขั้นจนผู้ป่วยสามารถกลับมานอนหลับได้เอง โดยไม่ต้องใช้ยานอนหลับอีกต่อไป