ควบคุมโรคคาดป่วยหนักโควิด-19 พุ่งแน่ใน 2 สัปดาห์หน้า ยอดผู้ติดเชื้อ-ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

456
0
Share:
ควบคุมโรค คาดป่วยหนัก โควิด-19 พุ่งแน่ใน 2 สัปดาห์หน้า ยอดผู้ติดเชื้อ-ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย สัปดาห์ที่ 45 มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 12.8 เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตยังมีแนวโน้มคงตัว ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ ในช่วงเริ่มต้นการระบาดครั้งใหม่ที่มีลักษณะเป็น Small wave หลังจากการปรับให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

กรมควบคุมโรค ได้ติดตามข้อมูลเฝ้าระวังโรคจากทั้งผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ดูแลอาการตนเองที่บ้านผ่านทางระบบการรายงานโดย สปสช. และดำเนินการเฝ้าระวังสถานที่เสี่ยงใน 8 จังหวัด เริ่มพบผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ทั้งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งจังหวัดส่วนใหญ่รับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น และมีการจัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมากขึ้นด้วย แม้ว่าผู้ป่วยอาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ที่ 45 (วันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2565) มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ไม่รับวัคซีนโควิด-19 และไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค หากติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสป่วยหนักได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย และผู้ที่มีโรคประจำตัว

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้แล้ว เน้นมาตรการตรวจรักษากลุ่ม 608 ที่เริ่มมีอาการป่วย ทั้งมีไข้ ไอ และ ATK พบเชื้อ ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโรคโดยเร็ว ทั้งนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้ LAAB (ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป) โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้น้อย

สำหรับคำแนะนำในช่วงนี้ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนงดออกจากบ้าน และสมาชิกในครอบครัวที่เป็นกลุ่มวัยทำงาน มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกบ้าน เช่น ไปสถานบันเทิง ให้งดใกล้ชิดผู้สูงอายุ และพาพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอาในบ้าน รวมทั้งเด็กเล็ก เด็กนักเรียน เข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งเข็มแรกหรือเข็มกระตุ้น หากได้รับเข็มสุดท้ายมานานเกิน 4 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนัก และลดระยะเวลาการรักษาโรค ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือญาติต้องลางานเพื่อดูแลรักษาด้วย