ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ที่ 36.67 บาท อ่อนค่าต่อจากวานนี้ จับตาทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ

308
0
Share:
ค่าเงินบาท เปิดตลาดวันนี้ที่ 36.67 บาท อ่อนค่าต่อจากวานนี้ จับตาทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ

ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยภาวะตลาดเงินวันนี้ว่า ค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 36.67 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าวันนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 36.55-36.80 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.34% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้นราว +0.74% ตามแรงซื้อหุ้นในจังหวะย่อตัวของบรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะแรงซื้อหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Tesla +3.6%, Amazon +1.4% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่องเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องราว -0.86% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และแนวโน้มที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็อาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน

ขณะที่เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัวใกล้ระดับ 109.66 จุด โดยแรงหนุนเงินดอลลาร์นั้นยังคงมาจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์เผชิญแรงกดดันจากการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) สู่ระดับ 142.8 เยนต่อดอลลาร์ (จากระดับเกือบ 145 เยนต่อดอลลาร์ ในวันก่อนหน้า) หลังผู้เล่นในตลาดมองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเข้ามาแทรกแซงตลาดค่าเงิน

ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบเดิมต่อ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา โดยในช่วงนี้ ประเด็นสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตา คือ แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หากตลาดไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงรุนแรง เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าต่อเนื่องไปมาก โดยแนวต้านของเงินบาทจะยังคงอยู่ในช่วง 36.75-36.80 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้ส่งออกจำนวนมากอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในระดับดังกล่าว

นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติก็ไม่ได้รุนแรงมากนัก ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติบางส่วนก็ทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวไทยมากขึ้น หลังบอนด์ยีลด์มีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เงินบาทอาจไม่ได้เผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากแนวโน้มฟันด์โฟลว์ไหลออกอย่างที่ตลาดเคยกังวลก่อนหน้า