ฉีดเถอะ! หมอยงชี้ ถ้าไม่ฉีดวัคซีนต้านโควิด ก็ไม่ต่างจากมีคนตายกว่า 7 แสนคนเหมือนโรคระบาดในอดีตของไทย

584
0
Share:

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

เมื่อโรคระบาดโควิด-19 เทียบกับไข้หวัดใหญ่สเปนและอหิวาตกโรคในรัชกาลที่ 2 ประเทศไทยมีโรคระบาดใหญ่เป็นรอบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2363 โรคอหิวาตกโรคได้เกิดการระบาดใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่มีการบันทึไว้ว่า “ห่าลงปีมะโรง” คาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 30,000 คน ซึ่งขณะนั้นประชากรประเทศไทยก็ไม่น่าจะมาก น่าจะอยู่ที่ 3-4 ล้านคน (คาดการณ์เอง) อัตราการเสียชีวิตก็น่าจะอยู่ที่ 1%

อีก 100 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2461 ไข้หวัดใหญ่สเปนเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ ในเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2461 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ในขณะนั้นประเทศไทยปกครองแบบมี 17 มณฑล (73 จังหวัด) มีประชากรทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ทั้งสิ้น 2.3 ล้านคน เสียชีวิต 80,000 คน หรือคิดราว 1 %ของประชากร นับเป็นการเสียชีวิตที่ไม่น้อยจากโรคระบาด โรคสงบในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2462

100 ปีต่อมา ปี พ.ศ. 2563 เราก็ต้องเผชิญกับโรคระบาดอีก คือโรคโควิด-19 เข้าสู่ประเทศไทยในเดือนมกราคม จากนักท่องเที่ยวชาวจีน หลังจากนั้นก็พบการระบาดมาจนถึงปัจจุบันเป็น 3 รอบ และเหตุการณ์ยาวมาถึง 1 ปีครึ่งแล้ว ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ เราได้พยายามยื้อให้มีการเสียชีวิตน้อยที่สุด และรอวัคซีนมาทดแทนการติดเชื้อ เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทาน

ถ้าเรา “ปล่อยไปตามธรรมชาติ” อย่างเมื่อ 100 หรือ 200 ปีที่แล้วที่ผ่านมา และถ้ามีการเสียชีวิตประมาณ 1 % ครั้งนี้ก็จะมีการสูญเสียถึง 7 แสนคน และโรคน่าจะสงบใน 1 ปี คือคนส่วนใหญ่จะติดเชื้อและมีภูมิต้านทาน

สภาพดังกล่าวคงยอมรับไม่ได้ จึงมีแนวทางปฏิบัติทุกวิถีทางที่จะลดความรุนแรงของโรค เหตุการณ์จึงได้ยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้ ทางออกในวันนี้มีอยู่ทางเดียวคือ ต้องทำให้ทุกคนมีภูมิต้านทาน ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนไทยทุกคน ควรจะได้รับวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิต้านทานเป็นส่วนใหญ่เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อลดความรุนแรงของโรคและอัตราตายในที่สุด โรคก็จะสงบถ้าคนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีนหรือการติดเชื้อ