ช็อคเด็กไทย! พบเด็กนักเรียนไทยยากจน ครอบครัวมีรายได้วันละ 34 บาท กว่า 2.5 ล้านคน

269
0
Share:
ช็อคเด็กไทย! พบเด็ก นักเรียน ไทย ยากจน ครอบครัวมีรายได้วันละ 34 บาท กว่า 2.5 ล้านคน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือกสศ. เปิดเผยความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาประจำปี 2565 พบว่า สถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษในประเทศไทยอยู่ในแนวโน้มที่ไม่สู้ดี กลุ่มนักเรียนเหล่านี้เป็นนักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ จากระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียน ซึ่งมาจากตัวชี้วัดว่า ครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ในความเป็นจริงและปัจจุบัน พบว่าบางครอบครัวมีรายได้เพียงเดือนละ 1,044 บาท หรือเพียงวันละ 34 บาทเท่านั้น

ด้านแนวโน้มจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 มาถึงปีการศึกษาล่าสุดในปี 2565 โดยเพิ่มขึ้นถึง 31% ภายใน 2 ปีติดต่อกัน มีดังนี้

ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน

ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 1,174,444 คน

ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน

ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน

ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน

กสศ. เปิดเผยต่อไปว่า หากเปรียบเทียบข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ถึงปีการศึกษา 2565 พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษในไทยลดลงมากถึง 5% นอกจากนี้ จากข้อมูลแหล่งรายได้ของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษ ยังพบว่ารายได้ของผู้ปกครอง 59% มาจากสวัสดิการรัฐและเอกชน รองลงมา 53.9% คือเงินเดือนหรือค่าจ้าง นอกจากนี้ปัญหาของนักเรียนยากจนพิเศษคือ สภาพครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง มีผู้พิการ เจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ครอบครัวของเด็กเหล่านี้อยู่ใต้เส้นความยากจน

ขณะนี้ เมื่อพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ พบว่า เด็กและเยาวชนไทยอายุ 3-14 ปี มีจำนวนมากกว่า 2.5 ล้านคนมีสถานะอยู่ใต้เส้นความยากจน สาเหตุจากครอบครัวของเด็กในกลุ่มดังกล่าวมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 2,762 บาทต่อคน

กสศ. เปิดเผยว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสิ่งที่อยู่กับสังคมไทยมานาน และไม่ว่ารัฐบาลใดจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่ก็ยังมีเด็กไทยอีกหลายคนตกหล่นและหลุดออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด

ทั้งนี้ ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงอัตราเงินเฟ้อ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ปกครองของเด็กมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นและอาจไม่เพียงพอต่อการส่งลูกหลานเรียนหนังสือ ที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นคือ เด็กบางคนต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยครอบครัวทำงานหาเงิน ทำให้พลาดโอกาสทางการศึกษาไป